วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มี.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 มี.ค. 2567
วันนี้ BIC จะพาผู้อ่านทุกท่านมาส่องความนิยมอาหารไทยผ่านมุมมองเมืองเบียร์จีน เมืองเบียร์จีนที่ว่า ก็คือเมืองชิงต่าว มณฑลซานตงนั่นเอง ซึ่งเมืองชิงต่าวนั้นเป็นเมืองศูนย์กลางชายฝั่งทะเลที่สำคัญของจีน ในอดีตเมืองชิงต่าวเคยเป็นอาณานิคมของเยอรมนี ส่งผลให้เมืองชิงต่าวได้รับอารยธรรมหลาย ๆ ด้านจากเยอรมนี ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง วิธีการผลิตเบียร์ ดังนั้น หลายท่านก็อาจคุ้นเคยกันบ้างกับ “เบียร์ชิงต่าว” ซึ่งก็เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของเมืองชิงต่าวและเป็นเบียร์ส่งออกที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีนที่มีจำหน่ายทั่วโลก
ในเรื่องการกิน การดื่ม ชาวชิงต่าวจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับการกินการดื่มเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่” สำหรับชาวชิงต่าวเลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าอาหารไทยก็ขึ้นแท่นอาหารยอดนิยมของคนท้องถิ่นที่นี่เช่นกัน
แต่ก่อนที่เราจะมาเช็คเรทติ้งของอาหารและเครื่องดื่มไทยในเมืองชิงต่าว BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับความนิยมอาหารไทยในระดับนานาชาติ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านรสชาติ ความพิถีพิถันในการปรุง และส่วนผสมที่มักใส่สมุนไพรเป็นส่วนประกอบหลักของ “อาหารไทย” ทำให้ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ในปี 2021 จากการจัดอันดับ The World’s 50 Best Foods โดย CNN Travel พบว่า อาหารไทยอย่างแกงมัสมั่นติดอันดับ 1 ต้มยำกุ้งติดอันดับ 8 ส้มตำติดอันดับ 46 และล่าสุด ในปี 2023 จากการจัดอันดับ 100 Best Dishes in The World โดย TasteAtlas มีอาหารไทยที่เข้าโพลถึง 5 รายการ คือ ผัดกะเพรา ข้าวซอย พะแนง ต้มข่าไก่ และแกงมัสมั่น แสดงให้เห็นว่า อาหารไทยยังคงเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก มักติดอันดับจากการจัดโพลต่าง ๆ ทุกครั้ง
สำหรับอาหารและเครื่องดื่มไทยในเมืองชิงต่าวนั้น ได้รับความนิยมไม่น้อย ไม่เป็นรองจากอาหารประเทศอื่น ๆ แน่นอน จากข้อมูลของสำนักงานพาณิชย์ เมืองชิงต่าว (สถานะเดือนมีนาคม 2566) พบว่า เมืองชิงต่าวมีร้านอาหารไทย จำนวน 10 ร้าน ซึ่งนอกจากข้อมูลที่ได้จากสำนักงานพาณิชย์ เมืองชิงต่าว นั้น ตามถนนตลาดกลางคืน ห้างสรรพสินค้า แอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ยอดนิยมของชาวจีน เช่น เหม่ยถวน (美团) และ เอ้อเลอะเมอะ (饿了么) หรือแม้กระทั่งบริเวณจุดเช็คอินที่สำคัญยังพบร้านขายอาหารและเครื่องดื่มไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งอาหารไทยและเครื่องดื่มไทยได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวชิงต่าวรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเป็นอย่างดี โดยเมนูอาหารยอดนิยมคงหนีไม่พ้น ข้าวผัดสับปะรด ต้มยำกุ้ง ผัดไทย แกงข่าไก่ คอหมูย่าง ข้าวเหนียวมะม่วง ซีฟู้ดดองสไตล์ไทย เป็นต้น
ในส่วนของตลาดกลางคืนยอดนิยมของชาวชิงต่าวอย่างตลาดกลางคืนหลี่ชุนและตลาดกลางคืนไถตง มักจะพบร้านหรือแผงลอยขายเครื่องดื่มสไตล์ไทย ร้านส้มตำรถเข็น ร้านซีฟู้ดดองสไตล์ไทย ร้านขายผลไม้ไทยตามฤดูกาล ร้านขายขนมไทย เช่น ชาไทยที่บรรจุใส่ถุงกระดาษ ชามะนาวสไตล์ไทย ลูกชุบ ทุเรียนไทยอบชีส ข้าวหลาม เป็นต้น ทั้งนี้ ยังพบว่าอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างตามร้านอาหาร ในบางร้านอาจมีการประยุกต์ให้เป็นสไตล์ไทย เช่น ในร้านหม้อไฟ หรือร้านหมาล่าทั่ง (麻辣烫) มีน้ำซุปให้เลือกเป็นน้ำซุปสไตล์ไทย อย่างน้ำซุปต้มยำ โดยผู้บริโภคบางส่วนอาจได้รับอิทธิพลการทานอาหารไทยจากการชมภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ไทย หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันโต่วอินหรือ bilibili ของจีนเอง ที่มีนักท่องท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวไทยแล้วพาเที่ยวและทานอาหารสัมผัสความเป็นไทย และจัดทำวิดีโอในลักษณะของ Vlog
นอกจากนี้จากการสำรวจแอพลิเคชัน Little Red Book (小红书) มีผู้ใช้หลายราย ซึ่งเป็น IP จากทั้งในและนอกมณฑลซานตง ได้เขียนรีวิวเกี่ยวกับอาหารไทยในเมืองชิงต่าวและเช็คอินที่ร้านอาหารไทยในเมืองชิงต่าวและได้รับความนิยม โดยมีกลุ่มชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยได้กดไลค์และแสดงความคิดเห็นตามโพสต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
BIC ยังพบข้อสังเกตว่า ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การไปมาหาสู่และการขนส่งเป็นไปโดยความสะดวกมากขึ้นทำให้ตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ มีการจำหน่ายสินค้าบริโภคของไทยเพิ่มมากขึ้นจากช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดฯ ตามเชลฟ์วางสินค้ามักพบน้ำผลไม้ ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้แปรรูป เครื่องปรุงอาหาร ข้าวหอมมะลิไทย ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด ขนมขาไก่ สาหร่ายอบกรอบ ข้าวเกรียบ บ๊วย ขนมทองม้วน มันฝรั่งทอด เป็นต้น ทั้งนี้ ในจำนวนสินค้าที่ได้กล่าวไป มีบางส่วนที่สินค้าที่ผู้นำเข้าจีนระบุว่านำเข้าวัตถุดิบจากไทยมาบรรจุหีบห่อเองเพื่อจัดจำหน่ายในจีน และมีสินค้าอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่แน่ชัดว่าวัตถุดิบมาจากประเทศใดแต่แสดงยี่ห้อ/ชื่ออาหารเป็นภาษาไทย
จากข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงความนิยมของชาวชิงต่าวที่มีต่อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทย และเป็นที่น่าสนใจเมื่อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยเป็นที่ถูกใจของชาวชิงต่าวจนเกิดการรีวิวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ BIC เห็นว่า เมื่อตลาดของชาวชิงต่าวพร้อมแล้วเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าไทยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง หรือวัตถุดิบไทยต่าง ๆ มายังประเทศจีน ซึ่งข้อได้เปรียบนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบของไทยได้ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่าน Soft Power ด้วย ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีความสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติม BIC ยินดีให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการทุกท่าน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
22 พ.ย. 2560
Working hours: Monday - Friday 09.00 - 12.00 and 13.00 - 17.00
WeChat Official Account: RTCG-Qingdao