รังนกกลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงานชาวจีน

รังนกกลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงานชาวจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 808 view

จากการพัฒนาทางเทคโนโลยี Big data  การตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)และธุรกิจ e-commerce สร้างความนิยมในการบริโภครังนกในกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นและวัยทำงานชาวจีน

ในปัจจุบัน ประเทศจีน สามารถผลิตรังนกแห้งได้ในมณฑลกวางตุ้ง มณฑลยูนนานและมณฑลไห่หนาน แต่ผลผลิตยังมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค ดังนั้น จึงมีการนำเข้ารังนกมาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งมีภาษีการนำเข้า ส่งผลให้รังนกมีราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนการนำเข้าผลิตภัณฑ์รังนก โดยในปี 2560

มีการนำเข้ารังนกแห้งเพิ่มขึ้นจาก 3.09 ตัน เป็น 81.4 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 26 เท่า และระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 พ.ค. 2561หลังจากที่มีการออกใบรับรอง CAIQ (Chinese Academy of Inspection and Quarantine) จำนวน 3.94 ล้านฉบับ ประเทศจีนมีการนำเข้ารังนก ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อยู่ที่ 42.6 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 141 เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปีนี้คาดว่าจะมีการนำเข้ารวมทั้งปีมากกว่า 120 ตัน

จากข้อมูล Big data ของอุตสาหกรรมรังนกจีน ในปี 2560 การขายรังนกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา มีมูลค่ากว่า 1.48 พันล้านหยวน (7.4 พันล้านบาท) โดยผู้บริโภคหลักกว่าร้อยละ 49.2 เป็นวัยทำงาน ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงและต้องการดูแลสุขภาพ มีอายุระหว่าง 26 ถึง 30 ปี รองลงมาคือกลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 18 ถึง 25 ปี รังนกที่นิยมบริโภค ได้แก่ รักนกแบบแห้ง และรังนกพร้อมรับประทาน

แพลตฟอร์มการบริการจัดการการตรวจสอบย้อนกลับรังนก แสดงสถิติการกระจายตัวของกลุ่มบริโภครังนกมากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริโภคทางตอนใต้ของประเทศจีน ได้แก่ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลกวางตุ้ง สำหรับกลุ่มผู้บริโภคทางภาคเหนือที่มียอดการบริโภคสูง ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเหอหนาน และมณฑลเหอเป่ย รวมถึงกรุงปักกิ่ง

นอกจากนี้ Big data ยังช่วยแก้ไขความผันผวนของราคาในตลาด และความไม่คงที่ด้านคุณภาพจากการพึ่งพาการนำเข้ารังนก รวมถึงก่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกโดยรวม

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระแสความนิยมบริโภครังนกของชาวจีนที่เกิดจากความนิยมในหมู่คนทำงานที่รักสุขภาพ และความเชื่อมั่นในคุณภาพของรังนกนำเข้าที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว ทำให้ฐานกลุ่มผู้บริโภครังนก กระจายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรังนกของไทย เร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนที่เป็นตลาดผู้บริโภครังนกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

______________________________________________________________________________

1การตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Traceability เป็น กลไกเพื่อติดตามที่มาของสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ว่ามีขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตอย่างไร เพื่อทำการติดตามสินค้าได้อย่างถูกต้อง

 

 

จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว