6,434 view

มณฑลซานตง (Shandong : 山东)

1. ที่ตั้งและพื้นที่

     มณฑลซานตง เป็นมณฑลชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศจีน จากภูมิประเทศที่เป็นคาบสมุทร ได้แยกอ่าวปั๋วไห่และทะเลเหลืองออกจากกัน โดยมีที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 34.25 ถึง 38.23 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 114.36 ถึง 122.43 องศาตะวันออก ทิศเหนือติดกับเมืองเทียนจินและมณฑลเหอเป่ย ทิศตะวันตกติดกับมณฑลเหอเป่ยและมณฑลเหอหนาน ทิศใต้ติดกับมณฑลอันฮุยและมณฑลเจียงซู ความกว้างจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกมีระยะทาง 700 กิโลเมตร และความยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้มีระยะทาง 420 กิโลเมตร ความยาวชายฝั่ง 3,000 กิโลเมตร โดยมณฑลซานตงมีความยาวชายฝั่งคิดเป็นหนึ่งในหกของความยาวชายฝั่งทั้งหมดของประเทศจีน

     มณฑลซานตงมีพื้นที่ทั้งหมด 157,126 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของพื้นที่ทั้งประเทศ พื้นที่ตอนกลางของมณฑลเป็นเทือกเขาสูง โดยมียอดเขาไท่ซันเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,545 เมตร พื้นที่ด้านตะวันตกและพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ด้านตะวันออกประกอบด้วยเนินเขาเตี้ย ๆ ทั้งมณฑลมีพื้นที่ราบลุ่มทั้งสิ้น 97,920 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ที่เป็นภูเขาและเนินเขามีทั้งหมด 53,397 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 34.9 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ที่เป็นแม่น้ำและทะเลสาบ 1,683 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของพื้นที่ทั้งหมด

2. ข้อมูลประชากร

     ปี 2565 มณฑลซานตง มีจำนวนประชากรทั้งหมด 101,527,500 คน เป็นมณฑลที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง

3. ภาษา

     ภาษาจีนกลาง (ผู่ทงฮว้า 普通话) เป็นภาษาราชการ และยังมีภาษาท้องถิ่นที่ใช้แตกต่างกันไปตามเมืองต่าง ๆ

4. สภาพภูมิอากาศ

     มณฑลซานตง ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมเขตอบอุ่น ในฤดูหนาว อากาศหนาวชุ่มชื้นมากกว่าประเทศจีนทางตอนเหนือ ภูมิอากาศบริเวณชายฝั่งแตกต่างจากบริเวณพื้นที่ตอนใน โดยมณฑลซานตงมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 11 – 14 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 500 – 900 มิลลิเมตรต่อปี

5. ทรัพยากรธรรมชาติ

      มณฑลซานตง เป็นมณฑลที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์พืชกว่า 3,100 ชนิด มีผลไม้กว่า 90 ชนิด แต่ละเมืองในมณฑลนี้ล้วนเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่ขึ้นชื่อ เช่น เยียนไถเป็นแหล่งผลิตแอปเปิ้ล ไหลหยางเป็นแหล่งผลิตสาลี่ เป็นต้น มณฑลซานตงยังเป็นแหล่งผลิตฝ้าย น้ำมัน พืชจำพวกข้าว ถั่ว สมุนไพรจีน ยาสูบที่สำคัญ นับเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศจีน

6. ทรัพยากรน้ำ

       มณฑลซานตง มีปริมาณทรัพยากรน้ำเฉลี่ยต่อปี 30,582 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำจากแม่น้ำที่ไหลผ่านมณฑล 22,290 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใต้ดิน 15,257 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแม่น้ำเหลืองซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของมณฑลมีปริมาณน้ำไหลผ่านในแต่ละปี ประมาณ 37,610 ล้านลูกบาศก์เมตร

7. ทรัพยากรทางทะเล

       มณฑลซานตง มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ติดทะเลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของพื้นที่ติดทะเลทั้งประเทศ เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำกว่า 40 ชนิด ที่สำคัญ เช่น กุ้ง ปู ปลา เป๋าฮื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ มณฑลซานตงยังเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญของจีน

8. ทรัพยากรพลังงาน

      มณฑลซานตง มีแหล่งน้ำมันเซิ่งลี่ อยู่ในเมืองตงหยิง เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากแหล่งน้ำมันต้าชิ่ง ในมณฑลเฮยหลงเจียง แหล่งน้ำมันเซิ่งลี่ ได้เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา โดยสามารถผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาติได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ในปี ค.ศ 2009 แหล่งน้ำมันเซิ่งลี่สามารถผลิตน้ำมันได้ 27,835,000 ตันต่อปี

9. ทรัพยากรแร่

     มณฑลซานตง มีทรัพยากรแร่กว่า 120 ชนิด เป็นมณฑลที่มีแหล่งแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำมัน เพชร และโคบอลต์มากเป็นอันดับสองของประเทศ โดยเหมืองแร่เพชรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนอยู่ในเมืองหลินอี๋ อำเภอเหมิงหยิน

10. ประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม

     มณฑลซานตง ปรากฏเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ครั้งแรกเมื่อปี 475-221 ก่อนคริสตกาล ซึ่งคำว่า "ซานตง" มีความหมายว่าเป็นพื้นที่ทางตะวันออกของภูเขาไท่เหิงซาน

     มณฑลซานตง ปรากฏชื่อครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว ในสมัยราชวงศ์หยวน โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเขตการปกครองเขตหนึ่ง ในสมัยราชวงศ์ชิงได้สถาปนาให้เมืองจี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑลซานตง

     หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 มณฑลซานตงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารอีกหลายครั้ง จวบจนปัจจุบัน มณฑลซานตงแบ่งการปกครองออกเป็นเมือง 16 เมือง มณฑลซานตงได้รับการขนานนามว่า "เมืองแห่งน้ำผุด" เนื่องมาจากมีแหล่งน้ำผุดธรรมชาติอยู่จำนวนมาก และยังมีเมืองชิงต่าวเป็นเมืองท่องเที่ยว อันขึ้นชื่อว่ามีชายฝั่งทะเล อันสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากนี้ มณฑลซานตง ยังเป็นมณฑลบ้านเกิดของขงจื้อ ซึ่งเป็นนักคิดและนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลต่อชาวจีน และประเทศอื่น ๆ ด้วย

 

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง

    มณฑลซานตง ประกอบด้วยเมืองทั้งหมด 16 เมือง และมีความโดดเด่นดังนี้

1. นครจี่หนาน

     - นครจี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑลซานตง เป็นเมืองศูนย์รวมทางการปกครอง วัฒนธรรม การแพทย์ การเงิน และการศึกษา

     - เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และการติดต่อสื่อสารของคาบสมุทรซานตง ตลอดจนเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของจีน เป็นที่ตั้งของรัฐบาลมณฑลซานตง     

     - ได้รับสมญานามว่า "เมืองแห่งน้ำผุด" เพราะมีบ่อน้ำผุดธรรมชาติมากกว่า 700 แห่ง

2. เมืองชิงต่าว

     - เป็นเจ้าภาพจัด: 1) การแข่งขันเรือใบโอลิมปิกครั้งที่ 29 ปี 2551 และ ปี 2557

                          2) งานพืชสวนนานาชาติ (International Horticulture Exhibition) ปี 2557

                          3) จัดการประชุม Shanghai Cooperation Organization (SCO) ครั้งที่ 18 ปี 2561  

                          4) จัดงานมหกรรมทางเรือนานาชาติในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี ของการสถาปนากองทัพเรือจีน ปี 2562 

                          5) จัดการประชุม Global Health Forum of Boao Forum for Asia ปี 2562

     - เป็นเมืองผลิตเบียร์ชิงต่าวที่มีชื่อเสียง และมียอดขายเป็นอันดับ 2 ในประเทศจีน

     - เป็นเมืองแห่งแบรนด์ มีแบรนด์จากชิงต่าวมากกว่า 70 แบรนด์ และเป็นที่ยอมรับในฐานะแบรนด์ชั้นนำของจีน อาทิ เช่น Haier Hisense CSR Sifang เป็นต้น

     - เป็นเมืองที่นำเข้ายางพารามากที่สุดในจีน

3. เมืองจือปั๋ว

     - เป็นเมืองผลิตเครื่องเคลือบเซรามิคที่มีชื่อเสียง

     - มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับมณฑลกว่า 12 แห่ง ซึ่งเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์จีน ยอมรับว่าเป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรม และแหล่งดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนมากมาย

4. เมืองจ่าวจวง

     - เป็นบ้านเกิดของม่อจื้อ

     - มีสินค้าทางการเกษตรที่โด่งดัง ได้แก่ ทับทิบ

     - เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ Tai’er Zhuang สถานที่ท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น

     - มีพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลสาบเวยซาน ซึ่งเป็นแหล่งชมดอกบัวแดงที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก โดยมีดอกบัวแดงตามธรรมชาติกว่า 80 ไร่

5. เมืองตงหยิง

     - มีบ่อน้ำมันเซิ่งลี่ ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ

     - เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์สำหรับกิจการปิโตรเลียมที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศจีน

     - เป็นเมืองศูนย์กลางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฮวงโห (Yellow River)

6. เมืองเยียนไถ

     - เมืองผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียง ไวน์ที่มีชื่อเสียงคือไวน์จางหยู้ (张裕)

     - เป็นแหล่งเพาะปลูกแอปเปิลที่สำคัญ

     - เป็นแหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

     - เป็นศูนย์กลางในการส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากมีท่าเรือขนาดกลางและใหญ่ รวมถึง มีท่าเทียบจอดเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้า มีการขนส่งสินค้ากับท่าเรือทั้งในและนอกประเทศกว่า 100 แห่ง

7. เมืองเหวยฟาง

     - ตั้งอยู่พื้นที่เขตยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเหลืองและเขตเศรษฐกิจสีฟ้าบนคาบสมุทรซานตง

     - ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งว่าว

     - มีเมืองรอง คือ เมืองโซ่วกวงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองแห่งพืชผัก" โดยมีพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรและตลาดฐานการผลิตพืชผลทางการเกษตรชั้นแนวหน้าของประเทศจีน และเป็น 1 ใน 3 เขตฐานอุตสาหกรรมเกลือของประเทศจีน

8. เมืองจี่หนิง

     - เมืองบ้านเกิดของขงจื้อ

     - เป็นเมืองศูนย์กลางกระจายสินค้าในเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซานตง

9. เมืองไท่อัน

     - เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี 2525 โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศจีน คือ ภูเขาไท่ซาน ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,545 เมตร

10. เมืองเวยไห่

       - เป็นเมืองที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในมณฑลซานตง

       - ในปี 2560 กรมรักษาสิ่งแวดล้อมมณฑลซานตง ประกาศให้เมืองเวยไห่เป็นเมืองที่มี "ท้องฟ้าปลอดโปร่ง มองเห็นดวงดาว" ถึง 362 วัน ใน 1 ปี

       - ได้รับการยกย่อง เป็นเมืองอันดับ 1 ด้านความอนามัย เมืองต้นแบบด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม เมืองต้นแบบด้านสุขภาพ เมืองต้นแบบด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุระดับชาติ

11. เมืองรื่อจ้าว

       - มีระบบการเดินทางคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย ทั้งทางทางเรือ ทางรถไฟ และทางหลวงที่เชื่อมต่อกับกรุงปักกิ่ง – นครเซี่ยงไฮ้

       - มีท่าเรือ 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือรื่อจ้าวและท่าเรือหลานซาน เมื่อปี 2560 รื่อจ้าว เปิดเส้นทางการขนส่งทางเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 

       - เป็นสถานที่ที่ขนส่งปิโตรเคมีเหลวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยสามารถรองรับการขนส่ง 400 ล้านตัน/ปี

12. เมืองหลินอี๋

       - ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งโลจิสติกส์ของประเทศจีน มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์กว่า 1,000 บริษัท

       - เป็นแหล่งกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีน และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากตลาดค้าส่งเมืองอีอู มณฑลเจ้อเจียง ทางตอนใต้ของจีน                     

       - เป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน รวมถึง การผลิตรถจักรยานไฟฟ้า รถประจำทางสาธารณะสีเขียวที่ให้บริการอยู่ทั่วประเทศจีน

13. เมืองเต๋อโจว

       - เป็น 1 ใน 33 ของเมืองอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ของประเทศ

       - เป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยมีศูนย์วิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ที่สำคัญ

       - เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกที่สำคัญของจีน

14. เมืองเหลียวเฉิง

       - เป็นเมืองที่มีแม่น้ำหลายสายตัดผ่าน ได้รับสมญาว่า "เวนิสมณฑลซานตง" และได้รับการขนามนามว่าเป็นเมืองแห่งน้ำพุร้อน

       - เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและจุดเชื่อมต่อรถไฟสายเหนือ-ใต้ (สายปักกิ่ง – เกาลูน) และตะวันออก-ตะวันตก (สายหานตาน – จี่หนาน) เข้าด้วยกัน และยังเชื่อมต่อกับทางด่วน เส้นจี่หนาน – เหลียวเฉิง – ก่วนเถา (มณฑลเหอเป่ย)

15. เมืองปินโจว

       - เป็นประตูใหญ่ทางภาคเหนือของมณฑลซานตง

       - เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจเชิงนิเวศที่มีประสิทธิภาพของสามเหลี่ยมแม่น้ำหวงเหอกับวงเศรษฐกิจป๋อไห่ (Bohai Economic Circle) และวงเศรษฐกิจกลุ่มเมืองจี่หนาน (Jinan Group City Economic Circle) ทำให้เมืองปินโจวค่อนข้างมีความโดดเด่นในด้านที่ตั้ง                                                     

16. เมืองเหอเจ๋อ

       - ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เมืองแห่งดอกโบตั๋น" โดยในวันที่ 16 เมษายนของทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานเทศกาลดอกโบตั๋นนานาชาติ

       - เป็นแหล่งปลูกโบตั๋นที่สำคัญของจีน และเป็นฐานการผลิต วิจัย แปรรูปและส่งออกดอกโบตั๋นที่ใหญ่ที่สุดในจีน

       - เป็นฐานการผลิตสมุนไพรจีนที่มีชื่อเสียง เช่น เปลือกรากโบตั๋น ปั้นเซี่ย (โหราข้าวโพด) ตี้หวง (โกฐขี้แมว) และเทียนหม่า (rhizoma gastrodiae)