ไทยกับโอกาสการค้าในมณฑลซานตงและภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ไทยกับโอกาสการค้าในมณฑลซานตงและภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,146 view

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2565 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว ขอพาท่านมาทำความรู้จักกับความตกลงที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา นั่นก็คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ความตกลงฉบับนี้ไม่เพียงแต่ผนวกภูมิภาคเอเชียตะวันออก อาเซียน และแปซิฟิกเข้าภายใต้กลไกการค้าเดียวกัน¹ แต่ยังนับเป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนประชากรรวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรโลก มี GDP รวมกันเป็นมูลค่าถึง 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 33.6 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30.3 ของมูลค่าการค้าของโลก โดยมีไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ร่วมก่อตั้ง

shutterstock-1869287146_285001

(แหล่งที่มาภาพ: 开泰研究中心 KResearch Center เรื่อง RCEP 生效,泰国为何如此谈定?)

ปัจจุบัน ประเทศที่ให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ โดยประเทศไทยได้ยื่นสัตยาบันสารเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ทำให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงฯ ได้ทันทีภายหลังการมีผลใช้บังคับข้างต้น

ในส่วนมหาอำนาจอย่างประเทศจีน ได้มีการเตรียมการอย่างดีเพื่อต้อนรับการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ เช่นกัน โดยทั้งรัฐบาลกลางและมณฑลสำคัญของจีนต่างก็ไม่รอช้าที่จะทุ่มเทกำลังเต็มที่ในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อเร่งดำเนินการตามนโยบายความตกลง RCEP ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังเห็นได้จากการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน – ลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เชื่อมระหว่างนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางรถไฟจีน – ลาว เป็นช่องทางการขนส่งที่สำคัญระหว่างกลุ่มประเทศ RCEP และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจใหม่ระหว่างจีนและอาเซียน

มณฑลซานตงมีข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เมื่อเทียบกับหลายมณฑล ทั้งในแง่จำนวนประชากร ตำแหน่งที่ตั้ง และกำลังผลิต อีกทั้งยังมีเครือข่ายทางเรือและทางรางที่มีศักยภาพสูงในการกระจายสินค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศ ส่งผลให้มณฑลซานตงเป็นมณฑลที่น่าจับตาของจีนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ความตกลง RCEP ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว จึงขอนำเสนอบทวิเคราะห์ใหม่ภายใต้โจทย์ว่า เมื่อความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับแล้ว ไทยจะใช้ประโยชน์จากมณฑลซานตงในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในประเทศจีน และภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้อย่างไร

  1. ความตกลง RCEP ส่งผลต่อมณฑลซานตงอย่างไร?

การค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตงกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มีบทบาทสำคัญที่สุดในการค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตง โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่จัดเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ และเป็นอันดับ 1 ของมณฑลฯ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตงกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ารวม 937,190 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แบ่งเป็นสินค้าส่งออก 537,480 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และสินค้านำเข้า 399,710 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

ปัจจุบัน บริษัทจากกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เข้ามาลงทุนในเมืองชิงต่าวกว่า 1.7 หมื่นบริษัท ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเมืองชิงต่าวกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP รวม 291,980 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีเงินทุนจากกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP (ใช้จริง) อยู่ที่ 510 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.8 ซึ่งอาเซียนเป็นตลาดการค้าการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองชิงต่าว นอกจากนี้ กลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ยังเป็นกลุ่มตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของประเทศไทยเช่นกัน ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยถึงกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP รวม 132,704 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย โดยกลุ่มประเทศส่งออกหลัก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 25.9 และ 10.4 ตามลำดับ

  1. ศักยภาพของมณฑลซานตงภายใต้ความตกลง RCEP

มณฑลซานตงเป็นมณฑลที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดมณฑลหนึ่งของจีน (มากกว่า 100 ล้านคน) ทั้งยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มณฑลซานตงจึงสามารถใช้ข้อได้เปรียบทางการตลาดจากประชากรที่มีจำนวนมาก และข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์อื่น ๆ ดังนี้

(1) มีการพัฒนาและทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมณฑลซานตงเป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ครบทั้ง 41 ประเภท² ซึ่งจะนำโอกาสและผลกำไรเข้าสู่แวดวงอุตสาหกรรม องค์กร และผู้บริโภคในมณฑลซานตงจากภายใต้ความตกลง RCEP เนื่องจากได้รับส่วนลดทางภาษีในการส่งออกสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิต ได้รับผลประโยชน์และสามารถขยายกำลังการผลิตและตลาดการค้ามากขึ้นระหว่างมณฑลซานตงกับประเทศสมาชิก RCEP ส่งผลให้มณฑลซานตงมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนในมณฑลซานตงยังสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยตรงเนื่องจากเมื่อสินค้านำเข้าภายใต้ความตกลงฯ ลดภาษีเหลือ 0% แล้ว จะสามารถซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงในราคาที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ

(2) สร้าง “ช่องทางทองคำ” สำหรับโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของจีน ยุโรปและเอเชีย ซึ่งอยู่ทางตะวันตก ตลอดจนแผ่ความเชื่อมโยงลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังเห็นได้จากการเดินขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ The Qilu และล่าสุดที่มีการเริ่มเดินขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ The Qilu China-Laos ขบวนแรกของมณฑลซานตงของบริษัท Shandong High-Speed Group เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ส่งผลให้มณฑลซานตงเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญบนเส้นทางในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และความร่วมมือต่าง ๆ จากอาเซียน โดยเฉพาะไทยและลาวมายังจีน ต่อไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงสมาชิก RCEP อื่น ๆ อันเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ในการค้าทางบกระหว่างไทยมายังจีนในอนาคต และการมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญต่อการพัฒนาท่าเรือในมณฑลซานตง เนื่องจากมณฑลซานตงมีแนวชายฝั่งทะเลขนาดใหญ่และมีท่าเรือหลายแห่ง ปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจึงน่าจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ของมณฑล

(3) ส่งเสริมการบูรณาการอย่างลึกซึ้งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานระดับภูมิภาค

(4) รองรับการขยายความร่วมมือกับประเทศสมาชิก RCEP ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง เมื่อมีการเริ่มผลใช้บังคับความตกลง RCEP จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาปัจจัยแวดล้อมทางการค้าของมณฑลซานตงให้ดีขึ้น เนื่องด้วยความตกลง RCEP ได้สร้างมาตรการที่มีจุดประสงค์จะทำให้สิ่งแวดล้อมทางการค้าดีขึ้น มณฑลซานตงจึงสามารถใช้โอกาสนี้ และปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวให้สูงขึ้น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน ปรับปรุง และพัฒนามาตรการเหล่านั้นให้มีความทันสมัย เพื่อความก้าวหน้าใหม่

นอกจากการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทางบกแล้ว อย่างที่ทราบกันดีว่ามณฑลซานตงตั้งอยู่ทางตะวันออกของจีน มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจทางทะเลที่แข็งแกร่ง และมีท่าเรือที่สำคัญระดับโลก โดยมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาว 3,024.4 กิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 1 ใน 6 ของชายฝั่งทะเลทั้งหมดของจีน ทำให้มณฑลซานตงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมและมีศักยภาพสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจการท่าเรือและการขนส่ง ทั้งยังดำเนินการบริหารจัดการโดยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน กล่าวคือ บริษัท Shandong Port Group

  1. บริษัท Shandong Port Group รัฐวิสาหกิจบริหารท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลซานตง

บริษัท Shandong Port Group ที่บริหารท่าเรือหลักในมณฑลซานตง 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือชิงต่าว ท่าเรือเยียนไถ ท่าเรือรื่อจ้าว และท่าเรือปั๋วไห่ เผยสถิติการขนส่งสินค้าประจำปี 2564 มีมากกว่า 1,500 ล้านตัน ขยายตัวขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ครองอันดับ 1 ของโลก และมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้ารวม 34 ล้าน TEUs ขยายตัวขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ติดอันดับ 3 ของโลก (เฉพาะท่าเรือชิงต่าว มีมากกว่า 657 ล้านตัน มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ รวม 24.8 ล้าน TEUs) จนถึงปัจจุบันมีเส้นทางการเดินเรือรวม 317 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางระหว่างประเทศ 222 เส้นทาง (อยู่ที่เมืองชิงต่าว 210 เส้นทาง) และในปี 2564 บริษัทได้เปิดเส้นทางใหม่ในการเดินเรือสำหรับการค้าระหว่างประเทศ 25 เส้นทาง (อยู่ที่เมืองชิงต่าว 22 เส้นทาง) และมีการพัฒนาเส้นทางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ประเภท sea-rail combined transport รวม 72 เส้นทาง (อยู่ที่เมืองชิงต่าว 62 เส้นทาง) โดยมีปริมาณการขนส่งแบบตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 2.5 ล้าน TEUs ขยายตัวร้อยละ 19.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เส้นทางการเดินเรือระหว่างมณฑลซานตงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 46 เส้นทาง โดยสถิติการขนส่งสินค้าระหว่างมกราคมถึงพฤศจิกายน 2564 แบ่งเป็นสินค้านำเข้ารวม 7 แสน TEUs ส่งออกรวม 1.4 ล้าน TEUs ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 14.31

ที่ผ่านมา บริษัท Shandong Port Group ได้เพิ่มความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่แข็งแกร่ง มุ่งสู่การเป็นท่าเรือที่ใหญ่ระดับโลก เพิ่มความพยายามในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือ และท่าเรือใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า ห่วงโซ่อุปทานหรือเครือข่ายโลจิสติกส์จะมีเสถียรภาพ และเป็นท่าเรือที่พร้อมขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และการเป็นท่าเรือทางทะเลระดับโลก

  1. เมืองชิงต่าวใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดและออกใบส่วนลดภาษีส่งออกแห่งแรกในจีนภายใต้ความตกลง RCEP

เมืองชิงต่าวในฐานะเมืองท่าและศูนย์รวมโลจิสติกส์สำคัญของจีนได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนภายใต้บริบทของ RCEP เป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งนับเป็นวันแรกที่เริ่มมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP รัฐบาลเมืองชิงต่าวได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ มณฑลซานตง จัดพิธีเนื่องในโอกาสการเริ่มมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP และการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ “Qingdao (China) to Tokyo-Yokohama Metropolitan Area in Kanto Region (Japan)” ณ ท่าเรือสำราญนานาชาติเมืองชิงต่าว เพื่อใช้โอกาสที่ความตกลง RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีผลใช้บังคับ ในการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศให้มีคุณภาพสูง และพัฒนามณฑลซานตงให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางการค้าและศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในโอกาสนี้ ทางการชิงต่าวได้เชิญให้กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองชิงต่าว (นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล) เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ให้ความเห็นต่อการเริ่มผลใช้บังคับของความตกลงฯ ซึ่งกงสุลใหญ่ฯ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าความตกลงฯ นี้จะนำความเจริญและรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคประเทศสมาชิก และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก

5

(กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองชิงต่าว (นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล) เข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ให้ความเห็นต่อการเริ่มผลใช้บังคับของความตกลงฯ)

อาจกล่าวได้ว่า เส้นทางเดินเรือใหม่ “Qingdao (China) to Tokyo-Yokohama Metropolitan Area in Kanto Region (Japan)” นับเป็นการส่งออกสินค้าทางเรือลำแรกของจีนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง RCEP ดำเนินการโดยบริษัท Qingdao Haiwan Group จากเมืองชิงต่าวสู่ประเทศญี่ปุ่น และนับเป็นการประกาศใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดฉบับแรกของจีนภายใต้ความตกลง RCEP ด้วย โดยเป็นการส่งออกแคลเซียมออกไซด์ จำนวนกว่า 2,800 ตัน และเมื่อสินค้าถึงญี่ปุ่น จะได้รับส่วนลดทางภาษีจากปกติร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 3 (ลดลงเกือบ 1 หมื่นหยวน) คาดว่าการเริ่มมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP ในปีแรก การส่งออกสินค้าสู่ประเทศญี่ปุ่นตลอดทั้งปีของบริษัท Qingdao Haiwan Group จะได้รับส่วนลดทางภาษีทั้งหมดประมาณ 1 ล้านหยวน และจากมณฑลซานตงส่งออกสินค้าสู่ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 380 ล้านหยวน นำเข้าประมาณ 900 ล้านหยวน

6

(พิธีประกาศใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดและใบส่วนลดภาษีส่งออกฉบับแรกของจีนภายใต้ความตกลง RCEP)

  1. RCEP (Shandong) Enterprise Service Center

เพื่อให้การอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมืองชิงต่าวได้ริเริ่มการจัดตั้ง RCEP (Qingdao) Enterprise Service Center เป็นแห่งแรกภายใต้กรอบความตกลง RCEP เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “RCEP (Shandong) Enterprise Service Center” โดยร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน อาทิ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) สำนักงานศุลกากร สำนักงานสรรพากร ฯลฯ ให้บริการข้อมูลที่ครอบคลุมแบบ “One stop services” เกี่ยวกับการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) ข้อมูลทางกฎหมายพาณิชย์และการเดินเรือ (Commercial and Maritime Legal Services) (2) ข้อมูลด้านศุลกากร (Customs Services) (3) ข้อมูลด้านภาษี (Taxation Services) (4) ข้อมูลด้านกระบวนการและการขออนุญาต (Administrative Approval Services) (5) บริการในส่วนงานบุคลากร (Talent Services) (6) บริการให้คำปรึกษาการจดทะเบียนการค้า (Advisory Service for Commercial Certificate) (7) บริการด้านไปรษณีย์ (Postal Services) (8) บริการด้านประกัน (Insurance Services) (9) บริการด้านการเงินหรือไฟแนนซ์ (Financial Services) ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเปิดใช้แอปพลิเคชันของศูนย์ เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงประชาชนในการใช้บริการ โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ และยื่นเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเอกสาร เช่น การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด เป็นต้น และพัฒนาระบบให้ประชาชนสามารถดำเนินการต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ได้ด้วยตนเองมากขึ้น

0bc18b1e882e911d79788522a49273b

(ตัวอย่างแอปพลิเคชันของศูนย์ RCEP สามารถเข้าได้ที่ระบบ Wechat ค้นหาคำว่า “RCEP 外贸实务查询”)

RCEP (Qingdao) Enterprise Service Center ได้ออกใบส่วนลดภาษีส่งออกให้กับบริษัท Qingdao Associated Textiles Group Import&Export Co., Ltd. เป็นฉบับแรกของจีนภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งชำระรวม 2.06 ล้านหยวนอีกด้วย จะเห็นได้ว่า ทุกระดับและทุกหน่วยงานในเมืองชิงต่าวได้เตรียมการสำหรับการดำเนินการภายใต้ความตกลง RCEP อย่างมีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่อย่างแข็งขันและบูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อก้าวสู่เมืองแม่แบบของประเทศที่ใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. สิ่งที่นักธุรกิจไทยควรรู้เกี่ยวกับความตกลง RCEP – กฎแหล่งกำเนิดสินค้า

กฎที่สำคัญของความตกลง RCEP คือ กฎแหล่งกำเนิดสินค้า ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น สัญชาติ ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของความตกลง RCEP เนื่องจากกลไกของความตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ มักจะกำหนดว่า หากผลิตภัณฑ์ของประเทศสมาชิก A ใช้ชิ้นส่วน ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบจากประเทศสมาชิก B ที่มีจำนวนมากเกินไป ประเทศ A จะไม่สามารถอ้างได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลิตในประเทศตน ส่งผลให้มีข้อจำกัดทางอัตราภาษีศุลกากรที่กำหนดโดยประเทศสมาชิกอื่น ๆ ยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ มีบริษัทหลายแห่งในมณฑลซานตงมีโรงงานแปรรูปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีค่าแรงต่ำและต้นทุนที่ดินต่ำ แต่มีวัตถุดิบหลายอย่างที่ไม่สามารถผลิตได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเทคนิคหรือการผลิตที่ด้อยกว่าในประเทศจีน ซึ่งเป็นปัจจัยในการถูกจำกัดของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในการผลิต เมื่อสินค้าส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น บริษัทจึงต้องใช้วัตถุดิบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมของบริษัท ในขณะที่ภายใต้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าของความตกลง RCEP ให้ถือว่าชิ้นส่วนใด ๆ ที่มาจากประเทศสมาชิก สามารถเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเป็นของประเทศตนได้ และเมื่อส่งออกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศสมาชิกก็จะสามารถใช้สิทธิรับส่วนลดทางภาษีได้ ซึ่งจะทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลง ทั้งยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ในภาพรวมมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

Presentation1ภายใต้กฎดังกล่าว ประเทศสมาชิก RCEP จะสามารถร่วมมืออย่างใกล้ชิดขึ้น สามารถสร้างระบบเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตแบบครบวงจร และจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนกลายมาเป็นฐานการผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่สำคัญซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอื่นภายใต้ความตกลงฯ ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

  1. ไทยกับโอกาสการค้าในมณฑลซานตงและภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภายใต้ความตกลง RCEP

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน RCEP เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถเริ่มใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากความตกลง RCEP อาทิ สมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน และญี่ปุ่น รวมทั้งเกาหลีใต้ (เมื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ แล้ว) จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยเพิ่มเติมจากข้อตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น นับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิก อาทิ สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง มีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านพิธีการศุลกากร และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมจะได้รับผลประโยชน์จาก RCEP เป็นอย่างมาก เช่น การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไปขายยังประเทศจีนที่ไม่เพียงแต่สะดวกง่ายดายแล้ว ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 ยังได้รับการลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 อีกด้วย

แน่นอนว่าไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ข้างต้นในการทำการค้ากับจีน และสมาชิก RCEP อื่น ๆ ได้ หากแต่สิ่งที่ทำให้มณฑลซานตงโดดเด่นและน่าจับตามองนอกเหนือจากจุดเด่นทางยุทธศาสตร์และมูลค่าการค้ากับประเทศอาเซียนที่สูง ก็คือศักยภาพของมณฑลในด้านโลจิสติกส์ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูงเพียงพอที่จะใช้เป็นจุดกระจายสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองชิงต่าว ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สำคัญในการรองรับระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรืออัจฉริยะซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศจีน หรือการขนส่งระบบรางในเส้นทาง The Qilu ตลอดจน RCEP (Shandong) Enterprise Service Center ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าไปยังมณฑลอื่น ๆ ของจีน หรือแม้แต่ส่งต่อไปยังสมาชิก RCEP อื่น อาทิ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งนักธุรกิจไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวได้ในอนาคต

อนึ่ง เมืองเยียนไถ มณฑลซานตง เป็นฐานผลิตผลไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคเหนือของจีน และขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งผลไม้ ไม่ว่าจะฤดูไหนก็มีผลไม้ผลิตออกมาให้ได้รับประทานกันทั้งปี โดยเฉพาะแอปเปิลและสาลี่ โดยแอปเปิลที่ผลิตในเมืองเยียนไถครองตลาดผลไม้คุณภาพดีทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศจีน และมีการส่งออกแอปเปิลไปยังต่างประเทศมากมาย อีกทั้ง เมืองเหวยฟาง มณฑลซานตง ยังเป็นแหล่งผลิตหัวไชเท้าสีเขียวที่มีความสด มีรสหวานและกรอบ (ชาวจีนเรียกหัวไชเท้าชนิดนี้ว่าเป็นผลไม้ไม่ใช่ผัก) เมื่อความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับ สินค้าทางการเกษตรของไทยและมณฑลซานตงสามารถแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยใช้สิทธิส่วนลดทางภาษีดังกล่าวแล้ว คนไทยยังสามารถซื้อผลไม้คุณภาพดีจากจีนได้ในราคาที่ถูกลงด้วย

บทส่งท้าย

ความตกลง RCEP ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเครือข่ายการค้าการลงทุนพหุภาคี อันจะสร้างพลวัตให้เกิดการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงภาพรวมการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของประเทศสมาชิก RCEP ตลอดจนสะท้อนถึงระดับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนภายใต้ความตกลงฯ อย่างใกล้ชิดในทุกมิติ

แม้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สมาชิก RCEP โดยเฉพาะไทยได้รับโดยตรงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) อื่น ๆ แต่ความตกลงฉบับนี้ นับเป็นการเปิดเสรีครั้งสำคัญภายหลังจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน และเป็นตัวแปรสำคัญให้จีนและมณฑลต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงมณฑลซานตง เร่งปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าของตน ตลอดจนอัดฉีดงบประมาณเพื่อปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการค้าภายใต้ความตกลงฯ ซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ควรเร่งศึกษาลู่ทางเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่าง ๆ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเจาะตลาดในมณฑลซานตงภายใต้บริบทใหม่ได้ก่อนใคร

นอกจากนี้ ข้อมูลข้างต้นยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้ “มณฑลซานตง” เป็นช่องทางที่มีศักยภาพช่องทางใหม่ในการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทยเข้าสู่เครือข่ายการขนส่งทั้งทางรางและทางเรือของจีน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถส่งต่อไปยังมณฑลอื่น ๆ ภายในประเทศ แต่ยังสามารถกระจายสินค้าเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่กำลังจะหันมาใช้เมืองชิงต่าวเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญในการนำเข้าและส่งออกทางบกจากเอเชียกลาง ยุโรปตะวันออก และประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งจะเร่งส่งเสริมให้เมืองชิงต่าว และท่าเรือในมณฑลซานตงพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กระจายสินค้านานาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพสูง มีระบบโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง และทางเรือ สามารถเชื่อมโยง ยกระดับการค้า และความสามารถทางการแข่งขันระหว่างท่าเรือต่าง ๆ ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยก็ได้เตรียมการรองรับการใช้บังคับความตกลง RCEP ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร และพาณิชย์ ในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งได้เปิด RCEP Center เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจภายใต้ความตกลง RCEP และความตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ หากผู้สนใจศึกษาและมีแนวความคิดในเรื่องการค้าการลงทุน หรือการขนส่งจากความตกลง RCEP ก็สามารถศึกษากฎและข้อมูลต่าง ๆ ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หากผู้อ่านต้องการรับข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมณฑลซานตง สามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน https://thaibizchina.com/ โดยเลือก “มณฑลซานตง” ในการค้นหา และเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว https://qingdao.thaiembassy.org/ ในหัวข้อ “ข่าวความเคลื่อนไหวมณฑลซานตง” นอกจากนี้ สามารถติดตามข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/Thaiqingdao

 

 


¹ ประเทศสมาชิก RCEP ประกอบด้วย 1) 10 ประเทศอาเซียน 2) จีน 3) เกาหลีใต้ 4) ญี่ปุ่น 5) ออสเตรเลีย และ 6) นิวซีแลนด์

² อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีน มีทั้งหมด 41 ประเภท แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่น ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ โลหะดำ โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และอโลหะ (2) อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป เช่น อาหาร ชา สุรา เครื่องดื่ม ยาสูบ เสื้อผ้า รองเท้า หมวก สิ่งทอ ไม้ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ สิ่งพิมพ์ เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา ปิโตรเลียม เผาถ่านหิน เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เคมีภัณฑ์ ยาและการรักษา เส้นใยสังเคราะห์ ยางพารา พลาสติก ผลิตและหลอมอโลหะ โลหะดำ และโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก สินค้าโลหะ ผลิตอุปกรณ์ทั่วไปและเฉพาะทาง การขนส่งและการคมนาคม วัสดุและอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์สำนักงาน ของที่ระลึก รีไซเคิล เครื่องจักร เครื่องยนต์ (3) พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน น้ำ และแก๊สหุงต้ม


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
แหล่งอ้างอิง:
แหล่งข้อมูลจีน
1. ข้อมูลจากการเข้าร่วมพิธีเนื่องในโอกาสการเริ่มมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP และการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ “Qingdao (China) to Tokyo-Yokohama Metropolitan Area in Kanto Region (Japan)” ที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลเมืองชิงต่าว (วันที่ 1 มกราคม 2565)

2. https://news.qingdaonews.com/qingdao/2022-01/01/content_23033283.htm (วันที่ 1 มกราคม 2565)
3. https://sd.dzwww.com/sdnews/202201/t20220101_9643319.htm (วันที่ 1 มกราคม 2565)
4. https://sd.dzwww.com/sdnews/202201/t20220104_9649619.htm (วันที่ 4 มกราคม 2565)
5. http://pinglun.iqilu.com/yuanchuang/2022/0104/5035716.shtml (วันที่ 4 มกราคม 2565)
6. https://view.inews.qq.com/a/20220105A09YIX00 (วันที่ 5 มกราคม 2565)
แหล่งข้อมูลไทย
7. https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/RCEP-z3298.aspx (วันที่ 31 ธันวาคม 2564)
8. https://www.bbc.com/thai/59847341 (วันที่ 1 มกราคม 2565)
9. https://www.prachachat.net/economy/news-819146 (วันที่ 2 มกราคม 2565)
10. https://www.thairath.co.th/news/foreign/2278362 (วันที่ 3 มกราคม 2565)
11. https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/202-RCEP-Pro-Con (วันที่ 6 มกราคม 2565)
12. https://thestandard.co/rcep-thai-products-have-been-taxed-to-0percent-01012022/ (วันที่ 9 มกราคม 2565)


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง