เปิดแผนการก่อสร้างและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของมณฑลซานตง 2565 วงเงินมากกว่า 270,000 ล้านหยวน

เปิดแผนการก่อสร้างและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของมณฑลซานตง 2565 วงเงินมากกว่า 270,000 ล้านหยวน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 1,060 view

16420409514150983

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ทางการมณฑลซานตงได้จัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์เกี่ยวกับแผนการก่อสร้างและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของมณฑลซานตง โดยในปี 2564 มีการใช้เงินลงทุนไปแล้ว 265,500 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และในปี 2565 นี้ มณฑลซานตงได้วางแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในวงเงินที่มากกว่า 270,000 ล้านหยวน

ในปี 2564 มณฑลซานตงได้ดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านเมืองเหอเจ๋อ มณฑลซานตง ซึ่งไม่เคยมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาก่อนได้สำเร็จ จนถึงสิ้นปี 2564 มณฑลซานตงมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรวมกว่า 2,300 กิโลเมตร ขึ้นเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีทางด่วนรวม 7,477 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางขนาด 6 ช่องจราจรมากกว่าร้อยละ 30 มีการสร้างท่าเรือทางทะเลระดับโลกที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับเรือขนส่งทางทะเลที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 หมื่นตันเข้าเทียบท่าได้ถึง 358 แห่ง มีการสร้างท่าเรือแม่น้ำในมณฑลซานตงเพิ่มขึ้นเป็น 24 แห่ง และมีการเปิดเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำภายใน the Beijing-Hangzhou Canal (京杭大运河) ในช่วงเส้นทางจากเมืองจี่หนิงลงไปทางตอนใต้ของจีน สามารถรองรับเรือขนส่งที่มีน้ำหนัก 2 พันตันได้ รวมทั้งได้ขุดสร้างเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำ เส้นทาง Xiaoqinghe River (小清河复航) แล้ว มีสนามบินต่าง ๆ โดยมณฑลซานตงมีสนามบินสำหรับการพาณิชย์ 10 แห่ง สนามบินพิเศษ 14 แห่ง นอกจากนี้ มณฑลซานตงยังมีระยะทางขนส่งรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งมณฑล 377 กิโลเมตร

ตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในปี 2565 มณฑลซานตงจะยังคงแสวงหาความก้าวหน้า พร้อมกับรักษาเสถียรภาพระบบคมนาคมขนส่งของมณฑลควบคู่ไปด้วย ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทุ่มกำลังในการส่งเสริมโครงการ เริ่มดำเนินการ และเร่งการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ มณฑลซานตงมีเป้าหมายการใช้งบประมาณมากกว่า 270,000 ล้านหยวน และใช้เงินลงทุนดังกล่าวดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีแผนงานดังต่อไปนี้

1. การคมนาคมขนส่งทางราง – รถไฟความเร็วสูง 1) เร่งดำเนินการผลักดันโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนครจี่หนาน – นครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน และอีก 5 โครงการ 2) เริ่มการก่อสร้างโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงปักกิ่ง – นครเซี่ยงไฮ้ ในช่วงเส้นทางจากนครเทียนจินถึงเมืองเหวยฟาง มณฑลซานตง เส้นทางเขตสงอาน มณฑลเหอเป่ย – เมืองซางชิว มณฑลเหอหนาน ในช่วงเส้นทางที่ผ่านมณฑลซานตง และเส้นทางนครจี่หนาน – เมืองปินโจว
ของมณฑลซานตง 3) ดำเนินการก่อสร้างเส้นทาง Huangtai Interconnecting Railway และเส้นทางนครจี่หนาน – เมืองหลายอู๋ของมณฑลให้เสร็จสิ้น โดยเมื่อแล้วเสร็จมณฑลซานตงจะมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้นเป็น 2,400 กิโลเมตร

– รถไฟฟ้าใต้ดิน 1) เริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินนครจี่หนานสาย 7 ระยะที่ 1 ตลอดจนโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 8 เมืองในมณฑลซานตง 2) ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเมืองชิงต่าวสาย 4 ให้เสร็จสิ้น โดยเมื่อแล้วเสร็จจะมีระยะทางรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดในมณฑลซานตงกว่า 400 กิโลเมตร

2. การคมนาคมขนส่งทางถนน – 1) เร่งผลักดันโครงการก่อสร้างทางด่วน 13 โครงการ 2) เริ่มโครงการปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมทางด่วนเส้นทางนครจี่หนาน – นครกว่างโจว ในช่วงเส้นทางจากนครจี่หนานถึงเมืองเหอเจ๋อ และอีก 17 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 1 พันกิโลเมตร 3) ก่อสร้างทางด่วนเส้นทางนครจี่หนาน เขตกาวชิง เขตจานฮว่า ไปจนถึงเมืองจือปั๋ว และโครงการอื่น ๆ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ทางด่วนในมณฑลซานตงจะมีระยะทางมากกว่า 7,800 กิโลเมตร

3. การคมนาคมขนส่งทางน้ำ – เร่งสร้างท่าเรือทางทะเลระดับโลกที่แข็งแกร่ง ดังนี้ 1) เร่งผลักดันแผนงานโครงการก่อสร้างเขตท่าเรือเฉียนวานซึ่งอยู่ในเครือท่าเรือชิงต่าวสำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 2) ผลักดันเขตท่าเรือหลานซานซึ่งอยู่ในเครือท่าเรือรื่อจ้าว ให้กลายเป็นท่าเรือลำดับที่ 4 ที่สามารถขนส่งน้ำมันได้ 3 แสนตัน 3) เริ่มการก่อสร้างเขตท่าเรือหลงโข่วซึ่งอยู่ในเครือท่าเรือเยียนไถ ให้เป็นท่าเทียบเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG) 4) ปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพของเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำภายใน the Beijing-Hangzhou Canal ในช่วงเส้นทางของมณฑลซานตง จากระดับ 3 เป็นระดับ 2 (สามารถรองรับเรือขนส่งที่มีน้ำหนัก 2 พันตัน) และช่วงเส้นทาง Xiaoqinghe River ตลอดจนโครงการอื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายการขนส่งทางน้ำภายในประเทศที่เชื่อมต่อแม่น้ำและทะเล

4. การคมนาคมขนส่งทางอากาศ – 1) เร่งผลักดันโครงการสร้างสนามบินในระยะที่ 2 ของสนามบินเยียนไถ 2) ปรับปรุงและซ่อมแซมสนามบินหลินอี๋ 3) ปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพสนามบินจี่หนานในระยะที่ 2 สนามบินจ่าวจวง และสนามบินพิเศษเต๋อโจว 4) ก่อสร้างสนามบินจี่หนิงและสนามบินพิเศษเผิงหลายให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติจี่หนาน และสร้างเครือข่ายการขนส่งภายในประเทศที่เชื่อมต่อกลุ่มสนามบินที่ทันสมัยอื่น ๆ บนคาบสมุทรซานตง

 

 

 

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
แหล่งที่มา:
http://sd.dzwww.com/sdnews/202201/t20220113_9688090.htm (วันที่ 13 ม.ค. 2565)

http://english.sdchina.com/show/4675376.html (วันที่ 13 ม.ค. 2565)


ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง