3,776 view

ข้อมูล/บริการสำหรับคนไทย

Consular Service

หนังสือเดินทาง

                           คนไทยทำ_นสดท._ในจีน_ep._1-2

คลิ๊กที่นี่! เพื่อเข้าชมคลิป [EP.1/2]

คนไทยทำหนังสือเดินทางในจีน_Ep.2-2

คลิ๊กที่นี่! เพื่อเข้าชมคลิป [EP.2/2]

 

กรุณานัดหมายล่วงหน้าทางหมายเลขโทรศัพท์ + (86-532) 6887-7038 เลือกบริการคนไทย หรืออีเมล [email protected] และส่งข้อมูลเบื้องต้น เช่น สำเนาหนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ไปยังอีเมลด้านบนนี้

ทั้งนี้ ในวันนัดหมาย กรุณานำเอกสารที่เกี่ยวข้องและหนังสือเดินทางเล่มปัจจุบันมาด้วย

 

การขอหนังสือเดินทางใหม่

          ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 กำหนดให้ออกหนังสือเดินทางแก่บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น

1. กรณีผู้ขอบรรลุนิติภาวะแล้ว

          ให้มายื่นคำขอทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง โดยมีหลักฐานและเอกสารประกอบ ดังนี้

          - แบบกรอกข้อมูลขอทำหนังสือเดินทาง 1 ชุด (สถานกงสุลใหญ่ฯ จะดำเนินการกรอกข้อมูลให้โดยคอมพิวเตอร์ และให้ผู้ร้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนดำเนินการต่อไป) ดาวน์โหลดที่นี่

          - บัตรประชาชนฉบับจริง

          - หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

          - ใบเปลี่ยนชื่อ (กรณีชื่อไม่ตรงกันกับหลักฐาน)

          ระยะเวลาดำเนินการ ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน นับจากวันมายื่นเรื่อง เดินทางมารับเล่มที่สถานกงสุลใหญ่ฯ โดยนำใบเสร็จและหนังสือเดินทางเล่มเดิมมาด้วย ทั้งนี้ หากประสงค์จะรับเล่มที่ไทย ขอให้แจ้งความประสงค์แก่เจ้าหน้าที่เมื่อยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง

 

ค่าธรรมเนียม: สำหรับหนังสือเดินทาง อายุการใช้งาน 5 ปี    350 หยวน   (เงินสด)

                                                  อายุการใช้งาน 10 ปี  500 หยวน  (เงินสด)

• หนังสือเดินทางมีอายุการใช้งาน 5 ปี และ 10 ปี ไม่สามารถแก้ไขและบันทึกรายการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่าง ๆ ในหนังสือเดินทางได้

ผู้ร้องฯ ต้องมายื่นเรื่องด้วยตนเองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เนื่องจากต้องบันทึกข้อมูลชีวภาพของแต่ละบุคคลลงในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์

• หากรายการข้อมูลในหนังสือเดินทางฉบับเดิมไม่ตรงกับข้อมูลทะเบียนบ้าน เช่น นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด เป็นต้น ให้ไปยื่นขอแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านที่อำเภอในประเทศไทยก่อน จึงสามารถยื่นทำหนังสือเดินทางใหม่ได้ (หรือสามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อทำหนังสือมอบอำนาจให้ญาติในประเทศไทยไปดำเนินการแทนได้)

• ค่าธรรมเนียมหากชำระแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

• ระเบียบอาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2. กรณีผู้ขอยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)

           บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ โดยมีเอกสารที่ต้องนำมาด้วย ดังนี้    

             2.1 กรณีบิดามารดาอยู่ด้วยกัน

                   - สูติบัตรฉบับจริง

                   - บัตรประชาชนฉบับจริง (เฉพาะอายุ 7 ปีขึ้นไป)

                   - หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

                   - บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดามารดา (กรณีชาวต่างชาติ ให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริง)

                   - เอกสารแสดงความเกี่ยวพันกัน และอำนาจปกครองบุตร

             2.2 กรณีบิดามารดาหย่าร้าง

                   - สูติบัตรฉบับจริง

                   - บัตรประชาชนฉบับจริง (เฉพาะอายุ 7 ปีขึ้นไป)

                   - หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

                   - บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาและ/หรือมารดาผู้มีอำนาจปกครองบุตร (กรณีชาวต่างชาติ ให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริง)

                   - เอกสารแสดงความเกี่ยวพันกัน และอำนาจปกครองบุตร

                   - ทะเบียนหย่าและบันทึกการหย่าร้างที่ระบุว่าผู้ใดมีอำนาจปกครองบุตร

             2.3 กรณีบิดามารดาจดทะเบียนสมรสแต่แยกกันอยู่ (ติดต่ออีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้)

                   - สูติบัตรฉบับจริง

                   - บัตรประชาชนฉบับจริง (เฉพาะอายุ 7 ปีขึ้นไป)

                   - หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

                   - บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาและ/หรือมารดา (กรณีชาวต่างชาติ ให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริง)

                   - เอกสารแสดงความเกี่ยวพันกัน และอำนาจปกครองบุตร

                   - หากไม่สามารถติดต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จะต้องมีคำสั่งศาลให้อีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว

             2.4 กรณีบิดาเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร

                   - สูติบัตรฉบับจริง

                   - บัตรประชาชนฉบับจริง (เฉพาะอายุ 7 ปีขึ้นไป)

                   - หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

                   - บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดา (กรณีชาวต่างชาติ ให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริง)

                   - คำสั่งศาลให้อีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว

                  หมายเหตุ

                  (1) บิดาต้องมาแสดงตนเพื่อลงนามยินยอมให้ผู้เยาว์ทำหนังสือเดินทาง

                  (2) หากบิดาไม่สามารถมาแสดงตน จะต้องมีหนังสือยินยอมให้บุตรเดินทางไปต่างประเทศและทำหนังสือเดินทาง (ทำผ่านเขตหรืออำเภอ)

                  (3) หากทั้งบิดามารดาไม่สามารถไปแสดงตน จะต้องมีหนังสือยินยอมจากทั้งบิดาและมารดา (อาจทำในฉบับเดียวกัน)

                  (4) ในกรณีตามข้อ (3) หากผู้เยาว์อายุต่ำว่า 15 ปีบริบูรณ์ นอกจากหนังสือยินยอมแล้วจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว เช่น ปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอา พาผู้เยาว์ไปทำหนังสือเดินทางด้วย

            2.5 กรณีบุคคลที่ 3 เป็นผู้ปกครอง

                  - สูติบัตรฉบับจริง

                  - บัตรประชาชนฉบับจริง (เฉพาะอายุ 7 ปีขึ้นไป)

                  - หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

                  - บัตรประชาชนฉบับจริงของผู้ปกครอง

                  - คำสั่งศาลให้อีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจปกครองบุตรแทนบิดามารดา

                 หมายเหตุ

                 กรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครองตามกฎหมาย เช่น เด็กกำพร้าซึ่งอยู่ในความดูแลของหน่วยงาน/องค์กร แต่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น เพื่อแข่งขันกีฬาหรือแข่งขันด้านวิชาการ หน่วยงานที่ดูแลเด็กจะต้องทำหนังสือถึงผู้อำนวยการกองหนังสือเดินทาง เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี

            2.6 กรณีบุตรบุญธรรม

                  - สูติบัตรฉบับจริง

                  - บัตรประชาชนฉบับจริง (เฉพาะอายุ 7 ปีขึ้นไป)

                  - หนังสือเดินทางเล่มเดิม (หากมี)

                  - บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดามารดา (กรณีชาวต่างชาติ ให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริง)

                  - ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (หากมี)

                  - ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (คร. 14) ฉบับจริง

             ระยะเวลาดำเนินการ ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน นับจากวันมายื่นเรื่อง เดินทางมารับเล่มที่สถานกงสุลใหญ่ฯ โดยนำใบเสร็จและหนังสือเดินทางเล่มเดิมมาด้วย ทั้งนี้ หากประสงค์จะรับเล่มที่ไทย ขอให้แจ้งความประสงค์แก่เจ้าหน้าที่เมื่อยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง

ค่าธรรมเนียม 350 หยวน (เงินสด)

หนังสือเดินทางมีอายุการใช้งาน 5 ปี และไม่สามารถแก้ไขและบันทึกรายการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่าง ๆ ในหนังสือเดินทางได้

กรณีที่บุตรได้สัญชาติจีนแล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของจีนกำหนดว่าบุตรจะไม่สามารถถือสัญชาติอื่นได้ หากปรากฎหลักฐานว่ามีการถือสัญชาติอื่น อาทิ มีหนังสือเดินทางของไทย อาจถูกถอนสัญชาติจีนได้

บิดามารดาและบุตรต้องมายื่นคำร้องฯ ด้วยตนเองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่สามารถยื่นคำร้องทางไปรษณีย์ได้ เนื่องจากบิดาและมารดาต้องลงนามยินยอมในคำร้องขอทำหนังสือเดินทางของบุตรต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องบันทึกข้อมูลชีวภาพของบุตรลงในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์

• กรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาลงนามยินยอมในคำร้องทำหนังสือเดินทางให้บุตรได้ ให้ยื่นคำร้องขอทำหนังสือให้ความยินยอมที่อำเภอในประเทศไทยหรือที่กระทรวงการต่างประเทศไทยก่อน (หากอยู่ต่างประเทศ ให้ยื่นขอที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศที่พำนักอยู่ได้) เพื่อรับรองและประทับตรา พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาหนังสือเดินทางที่รับรองสำเนาถูกต้อง แล้วจึงนำมายื่นประกอบขอทำหนังสือเดินทางให้บุตร – ดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือให้ความยินยอม

• กรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี หากผู้ปกครองหรือบิดามารดาไม่สามารถไปในวันยื่นคำร้องได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลที่ 3 ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว พาผู้เยาว์ไปทำหนังสือเดินทาง – ดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือให้มอบอำนาจ

• กรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่มีชื่อบิดาในรายการบิดาของสูติบัตรบุตร ให้แนบใบปกครองดูแลบุตร (ป.ค.14) ซึ่งระบุยืนยันว่ามารดาเป็นผู้ปกครองดูแลแต่เพียงผู้เดียว

• ค่าธรรมเนียมหากชำระแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

• ระเบียบอาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

การขอหนังสือเดินทางในกรณีหนังสือเดินทางสูญหาย

หากทำ_นสดท._หาย_แล้วจะกลับไทย_ต้องทำอย่างไร-1

          ระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจีน กรณีหนังสือเดินทางสูญหายจะต้องดำเนินการ ดังนี้

          1. ผู้ทำหนังสือเดินทางหายจะต้องไปขอรับหนังสือลงทะเบียนสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อเข้าพักที่โรงแรมหรือ บ้านพักจากโรงแรมที่พัก หรือสถานีตำรวจในเขตท้องที่บ้านพัก

          2. จากนั้น นำหนังสือลงทะเบียนดังกล่าว ไปแจ้งความหนังสือเดินทางหายที่สถานีตำรวจในเขตท้องที่ที่หนังสือเดินทางหาย

          3. นำใบแจ้งความและหนังสือลงทะเบียนฯ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ ใบอนุญาตทำงาน หนังสือยืนยันการทำงาน และใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ฯลฯ (สำหรับผู้ที่มาพำนักชั่วคราวในประเทศจีน) หากเป็นนักเรียนต้องมีหนังสือรับรองจากทางมหาวิทยาลัยด้วย ไปยื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของจีน เพื่อติดต่อขอรับใบแจ้งหนังสือเดินทางหาย (Confirmation of Reporting the Loss of Passport) ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2-3 วันทำการ ดังนั้น สถานกงสุลใหญ่ฯ จะไม่สามารถออกเอกสารเดินทางใหม่ให้ได้ในทันที

          4. นำใบแจ้งหนังสือเดินทางหาย (Confirmation of Reporting the Loss of Passport) ที่ได้รับดังกล่าว มายื่นแก่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ต่อไป

          5. นำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ไปที่สถานีตำรวจในเขตบ้านพัก เพื่อลงทะเบียนการเข้าอยู่อาศัย

          หมายเหตุ: เอกสาร Confirmation of Reporting the Loss of Passport มีอายุการใช้งาน 30 วัน สำหรับผู้ที่ต้องดำเนินเรื่อง Residence Permit จะต้องรีบติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอรับหนังสือเดินทางใหม่ ภายใน 30 วัน จากนั้นจึงนำ Confirmation of Reporting the Loss of Passport และหนังสือเดินทางเล่มใหม่ไปทำเรื่องขอให้ออก Residence Permit ใหม่ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะออก Residence Permit ให้ ตามระยะเวลาที่คงเหลือของใบอนุญาตเดิม ขั้นตอนการดำเนินการอาจมีการเปลี่ยนแปลง ควรประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของจีน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง

 

กรณีที่เดินทางมาท่องเที่ยวและจะต้องเดินทางกลับประเทศไทย                    

          1.ให้นำใบแจ้งหนังสือเดินทางหายที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกให้ มายื่นขอเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (หรือหนังสือสำคัญประจำตัว C.I. เดิม) ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว พร้อมรูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป (ไม่มีค่าธรรมเนียม) เพื่อใช้แทนหนังสือเดินทางที่หาย (มีอายุ 1 เดือน) ซึ่งผู้มาแจ้งสามารถรอรับเอกสารไปได้ทันที

          2. นำเอกสารเดินทางฉุกเฉิน และหนังสือลงทะเบียนฯ ที่โรงแรมออกให้กลับไปยื่นขอวีซ่าขาออก ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกครั้ง (ใช้เวลา 1 วันทำการ) เพื่อใช้เดินทางกลับประเทศไทย ถ้าต้องการขอบริการด่วนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ต้องแสดงหลักฐานบัตรโดยสารเครื่องบินยืนยันวันเดินทางกลับ

 ค่าธรรมเนียม   หนังสือเดินทางฉุกเฉิน  100 หยวน (เงินสด)

 

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มการขอหนังสือเดินทางได้ ที่นี่