วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2568
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ม.ค. 2568
ตรุษจีนปี 2568 ใกล้เข้ามาแล้ว ชาวบ้านในตำบลหงฮวา อำเภอถานเฉิง เมืองหลินอี๋ ตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในมณฑลซานตงต่างง่วนอยู่กับการผูก “เงื่อนจีน” ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของจีนจากที่การถักเชือกเป็นลวดลายที่ซับซ้อนและงดงามที่ใช้ประดับในงานเทศกาลและมงคลต่าง ๆ โดยเฉพาะตรุษจีนเพื่อความเป็นสิริมงคล ทุกปีมีเงื่อนจีนกว่า 40 ล้านชิ้นที่ผลิตจากตำบลหงฮวาแห่งนี้กระจายไปทั่วประเทศ
เฉพาะโรงงาน “เงื่อนจีน” ประจำหมู่บ้านหยวนเป่ย ตำบลหงฮวานั้น ยอดรับซื้อและส่งออก “เงื่อนจีน” สูงเกือบ 20,000 ชิ้นต่อวัน ในหนึ่งปีสามารถสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านราว 300,000 หยวน และชาวบ้านยังได้รับค่าแรงอย่างต่ำ 160 หยวนต่อวัน
บีไอซี ชิงต่าว ขอนำเสนอที่มาของโครงการการจัดตั้งโรงงาน “เงื่อนจีนหงฮวา” ที่ใช้แนวทางสร้างเครือข่ายระหว่างหมู่บ้านและการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน ดึงดูดให้กิจการต่าง ๆ กระจายสายการผลิตมายังหมู่บ้าน เพิ่มการจ้างงานของชาวบ้าน และสร้างรายได้ให้ชุมชน
ภาพ พนักงานขายเงื่อนจีนหงฮวา ที่มา สำนักข่าวป้านต่าว
จากโครงการของหมู่บ้านเดียวสู่เครือข่ายอุตสาหกรรมของทั้งตำบล
หลี่เมิ่ง เลขาธิการพรรคประจำตำบลหงฮวา เปิดเผยว่า ก่อนจะมีการจัดตั้งโรงงานนั้น ตำบลหงฮวามีหมู่บ้านที่ผลิต “เงื่อนจีน” โดยเฉพาะจำนวน 25 หมู่บ้าน และมีผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 4,000 ราย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมยังขาดการบริหารจัดการและการดำเนินงานที่เป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันตัดราคากันเองอยู่บ่อยครั้ง
ปัจจุบัน การพัฒนาแบบรวมกลุ่มและความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันได้กลายเป็นฉันทามติของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ ตำบลหงฮวาอาศัยข้อได้เปรียบจากบทบาทของเลขาธิการพรรคระดับจังหวัด จัดตั้งคณะกรรมการพรรคอุตสาหกรรมเงื่อนจีนแห่งตำบลหงฮวา โดยเชื่อมโยง “หมู่บ้านเงื่อนจีน” 16 แห่งในตำบลเข้าด้วยกัน ทำให้หมู่บ้านที่เคยเป็นคู่แข่งกันกลายเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน
หลังจากจัดตั้งคณะกรรมการพรรคแบบเครือข่ายแล้ว ได้ใช้รูปแบบการบริหารจัดการ “ห้ารวมเป็นหนึ่ง” ได้แก่ 1) การจัดซื้อวัตถุดิบที่รวมศูนย์ 2) การกระจายคำสั่งซื้ออย่างเป็นระบบ 3) การกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน 4) การตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานเดียวกัน และ 5) การจัดส่งสินค้าไปยังตลาดแบบรวมศูนย์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์ของพื้นที่นี้ในตลาดระดับประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
จากการเลียนแบบ สู่การออกแบบ
เช่นเดียวกับผู้ผลิตท้องถิ่นที่มักเลียนแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากพื้นที่อื่น ปัญหาคือบางครั้งการผลิตไม่สามารถทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์สินค้าได้ ทำให้สินค้าล้าสมัยก่อนจะวางจำหน่าย ผู้ผลิตในตำบลหงฮวาก็เคยประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ผู้ผลิตเงื่อนจีนในตำบลหงฮวาจึงให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์มากยิ่งขึ้น โดยการเชิญทีมออกแบบมืออาชีพมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เงื่อนจีนจากตำบลหงฮวาแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) เงื่อนตกแต่งภายใน 2) เงื่อนแขวนรถยนต์ 3) เงื่อนตกแต่งในงานเทศกาล และ 4) เงื่อนตกแต่งในงานมงคล รวมกว่า 600 สีสัน 1,500 รูปแบบ
จากการลอกเลียนแบบและการรับจ้างผลิต สู่การพัฒนาแบรนด์อิสระ แต่ละแบรนด์ในพื้นที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดมีชื่อร่วมกันคือ “เงื่อนจีนหงฮวา” ในปี 2563 แบรนด์ “เงื่อนจีนหงฮวา” ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติของจีน ทำให้ชื่อเสียงของ “หงฮวา” แพร่หลายไปทั่วประเทศ
ภาพ คนงานกำลังบรรจุเงื่อนจีนหงฮวาลงกล่อง ณ โรงงานแห่งหนึ่งในตำบลหงฮวา ที่มา สำนักข่าวไชน่า เดลี่
จากการจัดซื้อ สู่การสร้างห่วงโซ่อุปทานเต็มรูปแบบ
ในทุกปี ตำบลหงฮวาต้องการใช้เส้นด้ายสำหรับผลิตเงื่อนจีนประมาณ 100,000 ตัน และกล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์ประมาณ 18 ล้านชิ้น
ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2567 ตำบลหงฮวาจึงได้ลงทุน 6 ล้านหยวนเพื่อสร้างโรงงานผลิตเส้นด้ายและกล่องกระดาษ ซึ่งเป็นการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การผลิตสินค้า ไปจนถึงการจำหน่ายในตลาด
จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับประเทศ
เงื่อนจีน ในฐานะศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมไม่มีมาตรฐานทางเทคนิคที่ชัดเจน ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์แตกต่างกันอย่างมาก ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้น ในปี 2565 อำเภอถานเฉิงร่วมกับศูนย์ตรวจสอบคุณภาพเส้นใยแห่งมณฑลซานตง ได้พิจารณาประเด็นความปลอดภัยและคุณภาพการถัก และจัดทำมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เงื่อนจีน เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์เงื่อนจีนในประเทศ เป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพการผลิต และสนับสนุนเชิงเทคนิคเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเงื่อนจีนอย่างมีคุณภาพ
บีไอซี ชิงต่าว เห็นว่า ตำบลหงฮวา เป็นต้นแบบที่ดีในการร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐ ในการดึงศักยภาพด้านหัตถกรรมของชาวบ้านในพื้นที่ สร้างแบรนด์ (Branding) สร้างห่วงโซ่อุปทานเต็มรูปแบบ (Total supply chain) และสร้างการมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ (Group standards) ให้ขยายสู่ตลาดระดับประเทศ จนเห็นความสำเร็จอย่างชัดเจนในตรุษจีนปีนี้ ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาชนบท(乡村振兴梦;เซียงชุน เจิ้นซิ่ง เมิ่ง) ที่ได้รับการวางรากฐานในปี 2530 ภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง มีจุดมุ่งหมายหลักในการช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และนำพาเกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน กรณีศึกษาข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ชนบทไทยสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในการสร้างรายได้
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
อ้างอิง
Working hours: Monday - Friday 09.00 - 12.00 and 13.00 - 17.00
WeChat Official Account: RTCG-Qingdao