ชิงต่าวเริ่มสร้างเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาด 1 แสนตันลำแรกของโลกอย่างเป็นทางการแล้ว

ชิงต่าวเริ่มสร้างเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาด 1 แสนตันลำแรกของโลกอย่างเป็นทางการแล้ว

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,062 view

fish_farming_2_cut  fish_farming_3_cut  

        เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ได้มีการจัดพิธีเริ่มก่อสร้างเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาด 1 แสนตันลำแรกของโลกอย่างเป็นทางการที่เขตใหม่ชายฝั่งทะเลตะวันตก เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง โดยมีบริษัท Qingdao Conson Development Group เป็นผู้ลงทุน ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 เรือลำดังกล่าวมีชื่อว่า “กั๋วซิ่น หมายเลข 1”(国信1号) หรือ “คอนซอน นัมเบอร์วัน” (Conson No.1) มีความยาว 249.9 เมตร ความกว้าง 45 เมตร ความสูง 21.5 เมตร เรือกินน้ำลึก 12 เมตร มีน้ำหนักบรรทุก 1.3 แสนตัน

        ด้วยความเร็วเรือที่ถูกออกแบบไว้ที่ 10 น็อต หรือประมาณ 18.52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เรือฯ สามารถหลบหลีกพายุไต้ฝุ่นหรือสภาพอากาศที่ย่ำแย่ได้ ภายในเรือจะติดตั้งกระชังเลี้ยงปลาขนาดใหญ่จำนวน 15 กระชัง สามารถบรรจุน้ำได้ 80,000 ลูกบาศก์เมตร โดยในจำนวนดังกล่าวมี 13 กระชังที่บรรจุน้ำได้ 5,600 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน อีกทั้งจะติดตั้งระบบเปลี่ยนน้ำและอุปกรณ์สูบน้ำลึก เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนน้ำระหว่างภายในและภายนอกเรืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยรักษาอุณหภูมิและระดับความเค็มของน้ำให้ปลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้การเพาะเลี้ยงปลามีคุณภาพสูงขึ้น

        นายต่ง เสากวาง รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ กล่าวว่า หากเริ่มใช้งานเรือลำดังกล่าวแล้ว คาดว่าผลผลิตประมงปลาที่มีคุณภาพสูงจะมีปริมาณ 3,200 ถึง 4,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าราว 220 ล้านหยวนต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ เปิดเผยว่า มีแผนในการร่วมลงทุนกับคู่ค้าในการสร้างเรือเลี้ยงปลาฯ จำนวน 50 ลำ ซึ่งจะทำให้มีระวางน้ำหนักเรือรวมกันมากถึง 5 ล้านตัน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลลึกที่มีผลผลิตสูงต่อปีปริมาณมากกว่า 2 แสนตัน รวมมูลค่า มากถึง 11,000 ล้านหยวน และมุ่งมั่นที่จะสร้างให้เป็นโครงการสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลน้ำลึกระดับสากล อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรประมงและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจีนที่เป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมทางทะเลของจีนในปัจจุบัน

แหล่งที่มา
ttps://sd.iqilu.com/v7/articlePc/detail/7349617