บริษัท CRRC SIFANG Co.,Ltd. จากชิงต่าว เปิดตัวรถไฟใต้ดินคาร์บอนไฟเบอร์ “อัศวินดำ” ที่มีความเร็ว 140 กม.ต่อชม. ในงานเทคโนโลยีรถไฟขนส่งนานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

บริษัท CRRC SIFANG Co.,Ltd. จากชิงต่าว เปิดตัวรถไฟใต้ดินคาร์บอนไฟเบอร์ “อัศวินดำ” ที่มีความเร็ว 140 กม.ต่อชม. ในงานเทคโนโลยีรถไฟขนส่งนานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 835 view

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 บริษัทผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ CRRC เปิดตัวรถไฟใต้ดินคาร์บอนไฟเบอร์รุ่นใหม่ “CETROVO” ในงานเทคโนโลยีรถไฟขนส่งนานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

บริษัท CRRC SIFANG Co.,Ltd. เมืองชิงต่าว ลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตรถไฟใต้ดินอัจฉริยะรุ่นใหม่ “CETROVO” ที่แตกต่างจากรถไฟแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และวัสดุที่ทันสมัย เพื่อผลิตรถไฟให้มีน้ำหนักเบาที่สุด โดยนำวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ประกอบรถไฟ ทั้งตัวรถทั้งหมด ห้องคนขับ ห้องโดยสาร รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ตัวรถมีน้ำหนักเบากว่ารถไฟแบบดั้งเดิมที่ทำจากอะลูมิเนียมหรือเหล็กถึง 13 % คุณลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงแต่ช่วยให้ตัวรถมีน้ำหนักเบา ยังส่งผลให้ระบบตัวเครื่องสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 15 % และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังมีความต้านทานดี ลดความหายเสียต่อราง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของประเทศจีน ด้วยคุณสมบัติอื่น ๆ ที่แตกต่างจากรถไฟแบบดั้งเดิม ดังนี้

1. หน้าต่างอัจฉริยะขนาดใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ทันสมัย CETROVO ให้บริการ "รถไฟอัจฉริยะ" โดยหน้าต่างรถจะเปลี่ยนแปลงเป็น "หน้าต่างมหัศจรรย์" เสมือนหน้าจอ iPad ขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผู้โดยสารใช้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส เพื่อรับชมข่าวสาร การถ่ายทอดสด ท่องเว็บไซต์ หรือซื้อตั๋วโดยสารผ่านทาง “หน้าต่างอัจฉริยะ” ได้อย่างง่ายดาย

2. แบตเตอรี่ภายใน รถไฟใต้ดิน “CETROVO” เดินรถด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถขับเคลื่อนโดยไม่ต้องใช้พลังงานจากภายนอก เนื่องจากมีการติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ภายในตัวรถที่สามารถให้แรงขับได้ถึง 15 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเดินรถได้ปกติ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน หรือไฟฟ้าขัดข้อง ทั้งยังสะดวกสำหรับขับเคลื่อนในเส้นทางเขตคลังสินค้า หรือเส้นทางที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง

3. ทนต่อสภาพอากาศ รถไฟใต้ดิน “CETROVO” ถูกพัฒนาให้สามารถทนต่อสภาพภูมิอากาศติดลบ 40℃ และอากาศที่มีความชื้นสูง รวมถึงยังสามารถขับเคลื่อนในพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเล 2,500 เมตรได้อย่างราบรื่น

4. ระบบเรเดียลแบบแอคทีฟบนโบกี้ เนื่องด้วยรางรถไฟใต้ดินมีความซับซ้อน และมีองศาเลี้ยวรถในวงแคบ รถไฟใต้ดิน “CETROVO” จึงถูกพัฒนาโดยใช้ระบบเรเดียลแบบแอคทีฟบนโบกี้ ซึ่งสามารถควบคุมชุดล้อที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยว โดยใช้องศาแคบในเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดต่ำสุด 80 เมตร ซึ่งจะช่วยลดการสึกหรอของล้อลงได้อย่างมาก และประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษา

5. ส่วนประกอบข้อต่อขบวนที่ยืดหยุ่น 2+N ส่วนข้อต่อของขบวนรถไฟใต้ดิน “CETROVO” ยังสามารถประกอบหรือถอนออกได้ภายในเวลา 5 นาที ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ขบวนรถในระหว่างวันที่มีผู้โดยสารจำนวนมากน้อยได้ตามความเหมาะสม เพื่อลดการใช้พลังงานและต้นทุนการเดินรถ โดยสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 12 ตู้

6. เทคโนโลยีไร้คนขับและการแจ้งเตือนอัตโนมัติ มีการใช้เทคโนโลยีไร้คนขับ โดยติดตั้งระบบอัตโนมัติทั้งสิ้น ตั้งแต่การออกเดินรถ การลดความเร็ว การหยุดระหว่างสถานี การเปิดปิดประตู และการกลับเข้าอู่รถ ทั้งนี้ ในส่วนการบำรุงรักษา ตัวรถยังมีการติดตั้งระบบการแจ้งเตือนอัตโนมัติ เมื่อเกิด    ความผิดปกติขณะใช้งาน อีกทั้งยังสามารถสั่งการ เพื่อซ่อมแซมจากระยะไกลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเทคโนโลยีลดเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือน ระบบที่นั่งทำความสะอาดด้วยตัวเอง ระบบแสงสว่างและระบบปรับอากาศที่ควบคุมต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้โดยสารรุ่นใหม่เดินทางได้อย่างมีความสุข และสนุกสนานเพลิดเพลินด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

รถไฟใต้ดิน  “CETROVO” เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการผลิต และตอบสนองผู้โดยสารและนักเดินทางในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว ด้วยคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย เพื่อพัฒนาและลงทุนระบบรถไฟขนส่งในอนาคต ซึ่งรถไฟขบวนดังกล่าว จะเริ่มทดสอบตัวเครื่อง และระบบการเดินรถในขั้นถัดไป

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ bandao ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2561

 

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว