EARTHABOUR ไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งอนาคต

EARTHABOUR ไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งอนาคต

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 919 view

ในอดีต วิวัฒนาการการค้าปลีกดำเนินไปในรูปแบบเส้นตรง กล่าวคือเป็นอุตสาหกรรมที่ดำเนินไปอย่างช้า ๆ   ไม่มีความโลดโผน แต่ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางในสังคมยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว      เนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก อุตสาหกรรมการค้าปลีกจึงต้องเร่งปรับตัว ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภค เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

Future Retail หรือ การค้าปลีกแห่งอนาคต เป็นแนวคิดการค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกกับผู้บริโภคผ่านทางแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยในปี 2561 กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีนมีการเปิดตัวห้างสรรพสินค้ารูปแบบใหม่ถึง 5 แบรนด์ ได้แก่  Hema Fresh (盒马鲜生) Super species (超级物种) iziretail (掌鱼生鲜) 7FRESH และ Earthabour (地球港)

วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว ขอหยิบยกกรณีศึกษา Earthabour (地球港) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (hypermarket) แห่งอนาคต ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา โดยเป็นการรวมกันของร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าเข้าด้วยกัน ปัจจุบัน Earthabour เปิดกิจการในประเทศจีนทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ กรุงปักกิ่ง 2 สาขา เมืองชิงต่าว 2 สาขา และเมืองต้าเหลียน 1 สาขา โดยเป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัท Fuhua Commercial Group (复华商业集) เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมค้าปลีกแห่งอนาคต ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ Internet of Things และ Big Data มาเป็นตัวช่วยในการนำเสนอ และจำหน่ายสินค้า

นาย Han Jizhen ประธานบริษัท Earthabour กล่าวว่า ในขณะที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) อื่น ๆ กำลังดำเนินไปสำหรับผู้บริโภคในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา Earthabour กลับเปิดตัวขึ้น เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดย Earthabour ได้นำแนวคิดการค้าปลีกแบบ OMO (online merges with offline) ที่ผนวกเอาการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันมาใช้ ด้วยการรวมเอา "การค้าปลีกรูปแบบใหม่ + อาหารรูปแบบใหม่ + เทคโนโลยีใหม่" เข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะเลือกซื้อสินค้าผ่านห้างสรรพสินค้าออนไลน์ อาทิ ผักผลไม้ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ผลไม้ระดับพรีเมียม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ Tmall  Taobao JD

รูปแบบการค้าทางออนไลน์ที่ Earthabour นำมาใช้ ก็คือ การใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับลูกค้าโดยตรงผ่านทางแอปพลิเคชัน โดยผู้บริโภคสามารถเปิดใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เพื่อเลือกชมและสั่งซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคทั้งหมดที่มีภายใน Earthabour พร้อมบริการจัดส่งสินค้าให้แก่ผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่ภายในระยะทาง 3 กิโลเมตร (จัดส่งในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในการใช้บริการสั่งสินค้าพร้อมการจัดส่ง นอกเหนือจากการใช้บริการจากแพลตฟอร์มสั่งและจัดส่งสินค้าทันที เช่น เหม่ยถวน (美团) หรือ เอ้อเลอเมอ (饿了) รวมถึง Earthabour ยังมีสินค้าแบรนด์จากต่างประเทศให้เลือกสั่งซื้อ โดยจะจัดส่งถึงบ้านภายใน 7 วัน 

นอกจากการค้าทางออนไลน์แล้ว Earthabour  ยังไม่ลืมรูปแบบการค้าปลีกแบบดั้งเดิม คือการค้ารูปแบบออฟไลน์    ซึ่ง Earthabour  มีรูปแบบการดำเนินกิจการที่ต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป กล่าวคือ  มีการจัดพื้นที่ห้างออกเป็นสัดส่วน     ได้แก่ พื้นที่รับประทานอาหาร และพื้นที่ห้างสรรพสินค้า โดยตกแต่งพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้บริการสัมผัสได้ถึงความหรูหรา สะอาด และทันสมัย รวมถึงมีพื้นที่มุมเด็กเล่น เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้เวลาพักผ่อนสำหรับคนทั้งครอบครัว

ในส่วนของร้านอาหาร สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสด ผักสด และผลไม้ Earthabour สั่งซื้อและติดต่อกับผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรขนาดใหญ่โดยตรง ทำให้ต้นทุนมีราคาต่ำ และผลิตภัณฑ์มีความสดใหม่ สินค้าเหล่านี้ จะถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบอย่างดี เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภค และยังคงความสดใหม่ อีกทั้งยังลด   การเสียหายของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ในส่วนของห้างสรรพสินค้า มีการนำเข้าสินค้าจาก 108 ประเทศทั่วโลก โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าว่าจะได้รับสินค้าของจริงที่มีคุณภาพจากประเทศผู้ผลิต โดยสินค้าทุกชนิด ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ผ่านเครื่องสแกน QR code ที่ติดตั้งอยู่ภายในบริเวณห้าง

นอกจากผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสินค้าที่มีคุณภาพได้แล้วนั้น ทาง Earthabour ยังนำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาเป็นกลยุทธ์ในการช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้า และดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค อาทิ การนำ เทคโนโลยี AR ที่สามารถสแกนสินค้า เพื่อตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์  การใช้ Application เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ และเป็นช่องทางในการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ รวมถึงรายการส่งเสริมการขาย ระบบ QR Code ของสินค้าที่ต้องการซื้อ ซึ่งผู้บริโภคสแกนรหัสบนสินค้า ในขณะเดินเลือกชมสินค้าภายในห้าง โดยไม่จำเป็นต้องนำสินค้านั้น ๆ ใส่ลงตะกร้า หลังจากนั้น ผู้บริโภคสามารถรับสินค้าที่สแกนเลือกซื้อไว้ได้ทันทีก่อนออกจากห้าง ระบบ Cloud โดยมี การเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่หลายมิติ เช่น ลูกค้าสามารถเลือกอาหารทะเลสด และสามารถรับบริการปรุงสุกอาหารได้ทันที โดยภายในห้องครัวจะติดตั้งกล้องเก็บภาพแบบเรียลไทม์ และฉายผ่านหน้าจอให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารได้ตลอดเวลา

จากข้อมูลของ Earthabour แสดงให้เห็นว่า ยอดจำหน่ายทั้งหมดกว่าร้อยละ 85 เป็นยอดชำระเงินจากผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกที่มีการจับจ่ายผ่านทางแอปพลิเคชันของห้าง และปริมาณยอดจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ของห้าง คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายในการบริโภคของชนชั้นกลางนั้น เข้าสู่ยุคแห่ง E –commerce อย่างแท้จริงแล้ว

พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่มีความต้องการความเป็นอิสระ ความรวดเร็วในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งรูปลักษณ์ของสินค้า และการตกแต่งสถานที่เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ดีในการนำเสนอสินค้า เนื่องจากสังคมโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายเงินกับสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ ดูดีมีระดับ โดยคำนึงเรื่องราคาเป็นอันดับรองลงมา เนื่องจากความต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการบริโภคในอนาคต จากการคาดการณ์แนวโน้มการบริโภคในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาจเป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Earthabour ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจโดยในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ อาจทำให้ผู้ประกอบการประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง วิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค แต่สำหรับอนาคตนั้น การเปลี่ยนแปลงก่อนอาจได้เปรียบกว่า เพราะจะสามารถยึดพื้นที่ส่วนแบ่งทางการตลาดได้ก่อน ในการแข่งขันอย่างเข้มข้นในการดำเนินธุรกิจ การก้าวให้ทันเทคโนโลยี อาจยังไม่เพียงพอ การดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีสำหรับอนาคต อาจเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนำหน้าคู่แข่งก็เป็นได้

        

*************************

 

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว