กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว นำคณะจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รองประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย และผู้บริหารบริษัท ทรัพย์ปุญญา เข้าเยี่ยมชมสวนวิชาการนานาชาติ เมืองชิงต่าว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561

กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว นำคณะจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รองประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย และผู้บริหารบริษัท ทรัพย์ปุญญา เข้าเยี่ยมชมสวนวิชาการนานาชาติ เมืองชิงต่าว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 556 view
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ระหว่างการจัดงานเทศกาลไทย ครั้งที่ 3 ณ เมืองโซ่วกวง มณฑลซานตง นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว ได้นำคณะผู้บริหารและผู้ประกอบการ จากประเทศไทยที่เข้าร่วมจัดงาน ได้แก่ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นางกาญจนา เพชรมณี ประธานกรรมการบริษัททรัพย์ปุญญา และนางปิรันทนา คลี่ขจาย รองประธานสมาพันธ์ SMEs และผู้ประกอบการ SMEs ไทย เข้าเยี่ยมชมสวนวิชาการนานาชาติเมืองชิงต่าว ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ยาและการรักษา พลังงานและวัสดุใหม่ ๆ การพัฒนาการผลิตอุปกรณ์ชั้นสูง เทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัยออกแบบ และอื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 108 คน เป็นชาวต่างชาติ 79 รายจากประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ฯลฯ โดยมีอายุเฉลี่ย 64-78 ปี ทั้งนี้ ยังมีการรับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อร่วมมือและแลกเปลี่ยนความสำเร็จในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย
หลังจากนั้น กงสุลใหญ่และคณะได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวน้ำทะเล ตั้งอยู่ภายในสวนวิชาการนานาชาติเมืองชิงต่าว โดยมีนางสาวหวัง เค่อเซี่ยง หัวหน้าแผนกเทคนิคให้การต้อนรับ ศูนย์วิจัยดังกล่าว นำทีมวิจัยโดยนายหยวน หลงผิง บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม วัย 87 ปี เป็นสถานที่จัดแสดงการพัฒนาและวิจัยข้าวและความสำเร็จของศูนย์ อาทิ การศึกษาวิจัยข้าวพันธุ์ผสมรุ่นที่ 3 การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทนต่อดินเค็ม-ด่าง การศึกษาคุณภาพและรสชาติของข้าว รวมถึงการสาธิตการปรับปรุงพื้นที่ดินเค็ม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการวิจัยและผลิตข้าว ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้วางเป้าหมายในอนาคตสำหรับการปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็ม 125 ล้านไร่ในประเทศ และ 375 ล้านไร่ทั่วโลก ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ในการทดลองปลูกข้าวดินเค็มในมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน
นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิศวกรรมชีวเวช บริษัท Nanpeptide (Qingdao) Biotechnology จำกัด จากประเทศแคนาดา ซึ่งค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย อาทิ ผลิตภัณฑ์รักษาโรคจากกรดนิวคลีอิก สำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งยังมีการวิจัยที่สามารถสกัดโปรทีน เปปไทด์ได้จากสารเคมี แทนการสกัดจากสิ่งมีชีวิตและพืช เพื่อนำไปรักษาโรคต่าง ๆ
การเข้าเยี่ยมชมสวนวิชาการนานาชาติเมืองชิงต่าวของคณะครั้งนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทย – จีน ในสาขาที่เกี่ยวข้องในอนาคต
 
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ