วันที่นำเข้าข้อมูล 27 เม.ย. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2561 นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์เพาะพันธุ์สมุนไพร เขตจี๋โม่ เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง โดยมีนายหลี่ ฉงหัว ผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
สวนสมุนไพรแห่งนี้ เป็นบริษัทเอกชนกลุ่มแรก ๆ ของประเทศจีน ที่ได้ริเริ่มเพาะพันธุ์สมุนไพรจากต่างประเทศและพัฒนาสมุนไพรพันธุ์หายากของจีน อาทิ สมุนไพรเพื่อบริโภค เพื่อประดับตกแต่ง และเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป ปัจจุบันมีจำหน่ายให้แก่สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในมณฑลซานตง
จากนั้น กงสุลใหญ่ฯ และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาการปลูกข้าวในดินเค็ม ทั้ง 2 แห่ง ในเขตหลี่ชาง
เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง โดยมีนายหวัง จี้หลี่ หัวหน้าผู้บริหารแผนกเทคนิค และนางสาวหวัง เค่อเซี่ยง หัวหน้าแผนกเทคนิค ให้การต้อนรับ วัตถุประสงค์หลักของศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการปลูกข้าว และลดจำนวนผู้ขาดแคลนอาหารของโลก โดยทำการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการปลูกข้าว และพัฒนาข้าวพันธุ์ผสมให้มีความสามารถทนน้ำเค็มได้ดีขึ้น ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ในการทดลองปลูกข้าวทนน้ำเค็มในมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน
ต่อมา กงสุลใหญ่ฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมสวนวิชาการนานาชาติ เมืองชิงต่าว โดยมีนายหวาง จู้นเซี่ยน รองผู้ตรวจการสำนักงานพาณิชย์ เขตหลี่ซาง และรองอธิบดีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมศูนย์นวัตกรรม ให้การต้อนรับ สวนแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสถานที่ให้นักวิจัยหลังโครงการวิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีนักวิจัยจากทั่วโลกเข้าร่วมจำนวน 108 ราย เป็นชาวต่างชาติ 79 ราย ส่วนใหญ่มาจากประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย
ซึ่งนักวิจัยเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยที่ 64 - 78 ปี การวิจัยหลัก คือ โครงการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ยาและการรักษาโรค เทคโนโลยีสารสนเทศ การออกแบบและพัฒนาวิศวกรรมรูปแบบใหม่ การพัฒนาพลังงานทดแทน และการพัฒนาการผลิตอุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
การเยี่ยมชมของกงสุลใหญ่ฯ และคณะครั้งนี้ เพื่อศึกษาศักยภาพของเมืองชิงต่าว ในสาขานวัตกรรมการเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อยอดความร่วมมือระหว่าง ไทย - จีน ในสาขาที่เกี่ยวข้องในอนาคต
รูปภาพประกอบ
Working hours: Monday - Friday 09.00 - 12.00 and 13.00 - 17.00
WeChat Official Account: RTCG-Qingdao