เรือของบริษัทจีน ประสบความสำเร็จในการเดินเรือข้ามมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Route) เส้นทางเดินเรือทางทะเลที่สั้นที่สุดระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือกับยุโรปตะวันตก โดยบรรทุกสินค้าจากฟินแลนด์เข้าเทียบท่าเรือชิงต่าว มณฑลซานตง

เรือของบริษัทจีน ประสบความสำเร็จในการเดินเรือข้ามมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Route) เส้นทางเดินเรือทางทะเลที่สั้นที่สุดระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือกับยุโรปตะวันตก โดยบรรทุกสินค้าจากฟินแลนด์เข้าเทียบท่าเรือชิงต่าว มณฑลซานตง

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,160 view

        เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 เรือเทียนสี่ (Tian Xi) ซึ่งเป็นเรือของบริษัท COSCO Shipping Specialized Carriers ซึ่งตั้งอยู่ในนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ได้บรรทุกเยื่อกระดาษคุณภาพสูงราว 30,000 ตัน จากท่าเรือเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เข้าเทียบท่าเรือชิงต่าว มณฑลซานตง โดยเป็นการเดินเรือผ่านมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งมีระยะทางรวมกว่า 10,000 ไมล์ทะเล ใช้เวลากว่า 30 วัน แล่นอยู่ในมหาสมุทรอาร์กติกประมาณ 10 วัน ลดระยะเส้นทางเดินเรือลง 1 ใน 3 ของระยะทางเดิมที่เคยใช้และลดต้นทุนการขนส่งลงร้อยละ 40 นับเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในภารกิจเดินเรือข้ามมหาสมุทรอาร์กติกรอบแรกของบริษัท COSCO Shipping Specialized Carriers และบริษัท Shandong Port Group

        เรือเทียนสี่ เดินทางออกจากท่าเรือเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 แล่นเข้าสู่ทางเหนือของประเทศนอร์เวย์ ผ่านทะเลแบเร็นตส์ ทะเลคารา ทะเลลัปเตฟ ทะเลไซบีเรียตะวันออก ผ่านช่องแคบเบริง และเดินทางถึงท่าเรือชิงต่าวในวันที่ 16 กันยายน 2562 ทั้งนี้ ในปี 2561 ท่าเรือในกลุ่ม บริษัท Shandong Port Group มีปริมาณการรับ - ส่งสินค้าราว 1,300 ล้านตัน มีการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ราว 27 ล้าน TEU (ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) บริษัท Qingdao Port Xilian ภายใต้บริษัท Shandong Port Group นำเข้าเยื่อกระดาษจากประเทศฟินแลนด์ประมาณ 200,000 - 300,000 ตัน จัดส่งโดยบริษัท COSCO Shipping Specialized Carriers

        ที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยุโรปเป็นการเดินเรืออ้อมผ่านช่องแคบมะละกาและคลองสุเอซ (Suez Canal) แต่ด้วยสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้น้ำแข็งบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกละลาย ทำให้เกิดเส้นทางเดินเรือสายใหม่ที่ช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ซึ่งจีนเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือพาณิชย์นาวีใหม่นี้ โดยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนและประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เสนอความร่วมมือในการดำเนินการสร้าง "เส้นทางสายไหมขั้วโลก (Polar silk road)" จากนั้น ในเดือนมิถุนายน 2562 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนรัสเซีย และหารือโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างจีน – รัสเซีย ในการสร้างและพัฒนาเส้นทางสายไหมขั้วโลกร่วมกันอีกครั้ง

        การเดินเรือในมหาสมุทรอาร์กติกเป็นการเปิดช่องทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่เชื่อมโยงประเทศจีนและสหภาพยุโรปผ่านมหาสมุทรอาร์กติกที่มีความปลอดภัย ประหยัด มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นการเพิ่มปัจจัยและแรงขับเคลื่อนใหม่ในการสร้างมณฑลที่มีความแข็งแกร่งทางทะเล ในขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มเครือข่ายเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศให้บริษัท Shandong Port Group และเป็นการสร้างศูนย์กลางการขนส่งนานาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเปิดสู่ภายนอกโดยการเชื่อมต่อทางบกและทางทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันตกและตะวันออกของจีน ภายใต้แนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

เส้นทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ประกอบด้วย 3 เส้นทาง ได้แก่ 

        1. จีน - มหาสมุทรอินเดีย - แอฟริกา – ทะเล
เมดิเตอร์เรเนียน โดยถือแถบเศรษฐกิจชายฝั่งเป็นหลัก เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจจีน คาบสมุทรอินโดจีน ผ่านทะเลหนานไห่ไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจจีน - ปากีสถาน และระเบียงเศรษฐกิจบังคลาเทศ จีน อินเดียและเมียนมาร์

        2. จีน - โอเชียเนีย - มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ผ่านทะเลหนานไห่ไปทางทิศใต้สู่มหาสมุทรแปซิฟิก

        3. จีน - ยุโรป ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือทะเลจากจีนไปยุโรปที่สั้นที่สุด โดยผ่านมหาสมุทรอาร์กติก และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมขั้วโลก ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออกและยุโรปตะวันตก 3 ศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน

 

                                                                                                                                          *********************************************************************************

                                                                                                 จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ