ประสบการณ์ของผู้ประกอบการไทย เมื่อติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทจีน

ประสบการณ์ของผู้ประกอบการไทย เมื่อติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 1,042 view

ทุกวันนี้ การติดต่อสื่อสารธุรกิจต่าง ๆ ผ่านโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้น การทำธุรกิจข้ามพรมแดนจึงทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยคู่ค้าทั้งสองฝ่ายสามารถติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องมีการพบปะเจรจาธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ แต่ก็พบว่า ในโอกาสก็มีอุปสรรคด้วย นักธุรกิจบางรายประสบปัญหาต่าง ๆ อาทิ คู่เจรจาธุรกิจปลอมแปลงเอกสารการจดทะเบียนบริษัท มีการแอบอ้างใช้ชื่อสถานประกอบการของผู้อื่น โดยบทความนี้ จะขอนำเสนอกรณีศึกษา ต่อไปนี้                                                       

เมื่อต้นปี 2562 ผู้ประกอบการไทยได้ติดต่อกับบริษัทในจีนเพื่อสั่งซื้อสินค้า แต่ภายหลังไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ ผู้ประกอบการไทยจึงได้ติดต่อกับคู่ค้าจีนรายใหม่ โดยสั่งซื้อและนัดเจรจาขอตรวจ สอบสินค้าก่อนการชำระเงิน แต่ประสบปัญหาเดิม คือ ไม่สามารถติดต่อบริษัทดังกล่าวได้ ผู้ประกอบการไทยจึงตรวจสอบข้อมูลของบริษัทที่เจรจาธุรกิจด้วยหลายรายเพิ่มเติม ปรากฏว่า มีทั้งบริษัทที่มีการจดทะเบียนการค้าจริง และบริษัทที่ไม่พบการจดทะเบียนใด ๆ

กรณีการแอบอ้างใช้ชื่อสถานประกอบการของชาวจีน ผู้ประกอบการไทยรายนี้ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำการติดต่อกับบุคคลซึ่งแอบอ้างว่า เป็นพนักงานของโรงงานแห่งหนึ่งและได้มีการเจรจาซื้อขายเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นได้ทำการนัดหมายเพื่อขอตรวจสอบตัวอย่างสินค้าที่ประเทศจีน เมื่อเดินทางไปยังบริษัทฯ พบว่า บุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทฯ

เห็นว่า บทเรียนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำการติดต่อธุรกิจกับคู่ค้าจีน คือ ก่อนที่จะติดต่อเจรจาการค้ากับคู่ค้าจีน     ควรตรวจสอบข้อมูลของคู่ค้าให้แน่ชัดว่า มีการจดทะเบียนการค้าและมีโรงงานอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งสามารถทำการตรวจสอบได้โดยขอหลักฐานเอกสารทางการค้า เช่น ใบจดทะเบียนบริษัทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำการค้า และตรวจสอบว่า เป็นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทคู่ค้าผ่านทางช่องทางต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ของบริษัท     เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท สถานที่ตั้ง และผลประกอบการที่ผ่านมา ตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานจีน เช่น เว็บไซต์ สนง. พาณิชย์จีน (National Enterprise Credit Information Publicity System) www.gsxt.gov.cn เว็บไซต์ สนง. พาณิชย์ประจำเมืองหรือมณฑลนั้น ๆ และหากสะดวก ผู้ประกอบการควรที่จะเดินทางไปสำรวจบริษัทคู่ค้า ตรวจสอบคุณภาพสินค้า และทำสัญญากับคู่ค้าโดยตรง

โดยสรุป หากจะมีการทำธุรกิจกับคู่ค้ารายใดก็ตาม ผู้ประกอบการควรทำการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้น ๆ อย่างละเอียด ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบุคคลที่ทำการติดต่อด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบทุกครั้ง ก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไปทางธุรกิจ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ขอย้ำว่าโอกาสทำธุรกิจในจีนเป็นช่องทางที่เปิดกว้างมาก มีความน่าสนใจในธุรกิจที่หลากหลาย ความรอบคอบและความระมัดระวังจะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าในจีนได้อย่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน

 

****************************************************************  

 

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว