วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ก.ค. 2567
เมื่อไม่นานมานี้ ความนิยมในการบริโภคปลาแซลมอนของชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่สูงและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับมาตรฐานการครองชีพของประชากรที่ดีขึ้น ความใส่ใจด้านคุณภาพและความหลากหลายของอาหารของผู้บริโภคจึงสูงขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นปัจจัยผลักดันในการพัฒนาอุตสาหกรรมปลาแซลมอนในตลาดจีน
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปลาแซลมอนจำนวน 300,000 ตัว ที่เลี้ยงในกระชังแรกของกระชังเลี้ยงปลาฉายจิน หมายเลข 1 ในพื้นที่น่านน้ำหลานซาน เมืองรื่อจ้าว มณฑลซานตง ซึ่งอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งมากกว่า 10 ไมล์ทะเล ได้เข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต นับเป็นความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนนอกชายฝั่งครั้งแรกของจีน โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางทะเลในการทำประมงแบบ land-sea relays เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงปลาแซลมอน นอกจากนี้ ยังมีระบบการขนส่งแบบห่วงโซ่เย็นครอบคลุมทั้งกระบวนการขนส่ง ตั้งแต่การจับปลาไปจนถึงการจำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าเนื้อปลาจะยังคงความสด และสามารถเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารได้ภายใน 24 ชั่วโมง
กระชังเลี้ยงปลาฉายจิน หมายเลข 1 มีกระชังตาข่ายความสูงประมาณเท่ากับอาคาร 11 ชั้น และปัจจุบันเป็นกรงแบบโครงถักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน บริหารจัดการด้วยระบบอัจฉริยะ ตั้งแต่กระบวนการเพาะพันธุ์ปลา การให้อาหาร การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการแปรรูป ขณะเดียวกันยังสามารถตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำและแหล่งอาหารปลาตามธรรมชาติในพื้นที่ทะเลโดยรอบได้ตลอดเวลา เพื่อให้การทำประมงในกระชังเป็นไปตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์
กระชังเลี้ยงปลาฉายจิน หมายเลข 1 ประกอบด้วยกระชังเลี้ยงปลาอัจฉริยะทั้งหมด 6 กระชัง ความจุน้ำประมาณ 60,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการทำประมงดั้งเดิม เช่น อุปกรณ์ประมงเสียหายจากคลื่นลม แรงงานมนุษย์มีต้นทุนสูง ประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงต่ำ ทั้งนี้ กระชังเลี้ยงปลาทั้ง 6 กระชัง จะสามารถผลิตปลาแซลมอนได้มากกว่า 6,000 ตันต่อปี และจะกลายเป็นคลัสเตอร์กระชังเลี้ยงปลาแซลมอนในทะเลลึกที่ใหญ่ที่สุดจีน
เพื่อขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมปลาแซลมอน เขตหลานชาน เมืองรื่อจ้าว จึงวางแผนสร้างศูนย์เพาะพันธุ์ปลาแซลมอนที่ใหญ่ที่สุดในจีน เขตทดลองเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนทะเลลึกแห่งชาติ สนับสนุนห่วงโซ่อุตสาหกรรมแปรรูป และสร้างเขตสาธิตการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมปลาแซลมอนแห่งแรกของจีน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเติมเต็มอุปสงค์ของตลาดปลาแซลมอนในประเทศ ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินและการเพาะพันธุ์เลี้ยงสัตว์น้ำแบบอัจฉริยะนอกชายฝั่งซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่จีนกำลังเร่งพัฒนา
ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถศึกษาเทคโนโลยีการทำประมงในกระชังเลี้ยงปลาของจีน เพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับให้เข้ากับทรัพยากรที่มีอยู่ รวมถึงต่อยอดในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรทางทะเลของไทย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
ที่มา: http://www.sd.xinhuanet.com/20240526/641a32bfdeb843a8a8710bfe8e570850/c.html
Working hours: Monday - Friday 09.00 - 12.00 and 13.00 - 17.00
WeChat Official Account: RTCG-Qingdao