รู้จักโรงงานกำจัดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนแห่งแรกของจีน

รู้จักโรงงานกำจัดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนแห่งแรกของจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 697 view

1

รูปภาพจาก https://board.postjung.com/817967

“เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน” สิ่งอำนวยความสะดวกในยุคปัจจุบันที่ทุกบ้านต่างมี
จากอดีตที่มีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอยู่ไม่มาก ยังไม่มีความทันสมัย และมีราคาสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทอาจต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจยังไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ แต่ปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการแข่งขันทางการตลาดที่นับวันยิ่งทวีขึ้น ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเหล่านี้มีราคาต่ำลง ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นสามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ จนทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุก ๆ บ้าน และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปด้วย

2

รูปภาพจาก https://bit.ly/3QER3JO

เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้ามีราคาต่ำลง ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ได้บ่อยยิ่งขึ้น จึงทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเก่าที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการใช้พลังงานมาก ถูกเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและกลายเป็นขยะ สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลของ Global E-waste Statistics Partnership (GESP) พบว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นการสร้างขยtอิเล็กทรอนิกส์ถึงจำนวน53.6-54 ล้านตันต่อปี และมีเพียงร้อยละ 18 ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณขยะประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการขยายตัวของผู้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

 “จีน” เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก และมีขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (Waste household appliances) จำนวนมาก ปัจจุบัน จีนมีเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากกว่า 2,100 ล้านเครื่อง มีการกำจัดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ไม่ใช้แล้วมากถึง 100-190 ล้านเครื่อง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในทุก ๆ ปี โดยอัตรารีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าในครัวเรือนผ่านช่องทางที่ได้มาตรฐาน ที่สำเร็จมีเพียง ร้อยละ 44 รัฐบาลจีนได้ถึงตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และเร่งปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานของอุตสาหกรรมรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าในครัวเรือน

3

รูปภาพจาก https://bit.ly/3BM4ZgI

รัฐบาลจีนกับบทบาทการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา

รัฐบาลจีนได้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และได้ออกนโยบายหลายชุด อาทิ แผนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงระบบการรีไซเคิลและการแปรรูปของเสียเครื่องใช้ภายในบ้าน และส่งเสริมการต่ออายุและการบริโภคเครื่องใช้ในบ้าน ทั้งนี้ ได้มีการเสนอเป้าหมาย “คาร์บอนคู่” ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการรื้อถอนเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยกระบวนการที่ได้มาตรฐาน จะทำให้วัสดุส่วนใหญ่ อาทิ ทองแดง อลูมิเนียม และพลาสติก ภายในเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนในส่วนของวัสดุ และยังสามารถช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนได้อีกด้วย รวมถึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบันที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบการรีไซเคิล และกำจัดของเสียในครัวเรือน ในขณะเดียวกัน การรีไซเคิลและการกำจัดของเสียจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ไม่ได้มาตรฐานอาจนำไปสู่การทำลายสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาตามธรรมชาติและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากในเครื่องใช้ไฟฟ้ามีส่วนประกอบที่เป็นอันตราย อาทิ ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม

ส่องโรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนแห่งแรกของจีน

4

โรงงานรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งนี้ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของบริษัท Haier บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ภาคเหนือของประเทศจีน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในวันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) แห่งแรกในอุตสาหกรรมรีไซเคิลและแพลตฟอร์มดิจิทัลของอุตสาหกรรมรีไซเคิลของจีน นอกจากนี้ โรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ยังเป็นโรงงานรีไซเคิลโรงงานแรกที่เชื่อมโยงกับระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของจีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มของการแปรรูปทรัพยากรรีไซเคิล และช่วยสำรวจรูปแบบใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียวของอุตสาหกรรมทั้งหมด รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยระบบดิจิทัลและสร้างความมั่นใจในการจำกัดเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าในครัวเรือนอย่างถูกวิธี

5

โรงงานแห่งนี้มีพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย สายการรื้อเครื่องใช้ในครัวเรือน 6 สาย สายทำความสะอาดและบด 3 สาย สายคัดกรองไฟฟ้าสถิต 1 สาย และสายการอัดเม็ด 8 สาย หลังจากเริ่มดำเนินการแล้ว โรงงานแห่งนี้จะสามารถรื้อถอนเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ถึง 3 ล้านหน่วย และสามารถฟื้นฟูได้ ถึง 30,000 ตัน รวมทั้งมีการสร้างอาชีพกว่า 300 ตำแหน่ง คาดว่า ในอนาคตโรงงานแห่งนี้จะสามารถขยายไปสู่การผลิตชิ้นส่วนใหม่ การรีไซเคิลและรื้อกำจัดซากรถยนต์ การกลั่นกรองโลหะมีค่าและอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมแปรรูปทรัพยากรรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและสะอาด

บริษัท Haier ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิก “ระบบรับผิดชอบต่อเป้าหมายการรีไซเคิล” ได้นำธุรกิจรีไซเคิลมาเป็นจุดเริ่มต้น ขยายไปสู่การเชื่อมโยงการรื้อถอน และสร้างระบบรีไซเคิลสีเขียวแบบวงปิดของอุตสาหกรรม “การรีไซเคิล-รื้อ-ฟื้นฟู-การผลิตใหม่” เพื่อให้เกิดการจัดการวงจรแบบเต็มรูปแบบ และแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเต็มกระบวนการ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมดเพื่อสร้างสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

นอกจากการรีไซเคิลและรื้อถอนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนแล้ว บริษัท Haier ได้นำแนวคิด ESG (Environment , Social Responsibility และ Corporate Governance) มาใช้ภายใต้ยุทธศาสตร์ “คาร์บอนคู่ (carbon peak และ carbon neutral)” ระดับชาติ และยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ “6-Green” ที่รวมการอนุรักษ์พลังงานคาร์บอนต่ำ สำหรับขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียวของห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรม

สร้างระบบรีไซเคิลออนไลน์และออฟไลน์ ครอบคลุมชุมชนและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ

บริษัท Haier ได้ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ใช้ไม่สามารถกำจัดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ไม่ใช้แล้วได้อย่างถูกวิธี จึงได้สร้างแพลตฟอร์มการกำจัดเครื่องใช้ไฟฟ้าออนไลน์และออฟไลน์ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ไม่ใช้แล้วอย่างเป็นมาตรฐานและมีความสะดวก โดยได้จัดตั้งเครือข่ายผู้ติดต่อทั่วประเทศ ปัจจุบัน เครือข่ายการรีไซเคิลของบริษัท Haier ได้รวมร้านค้าออฟไลน์ 32,000 แห่ง พนักงานบริการมากกว่า 100,000 คน และศูนย์โลจิสติกส์และการกระจายสินค้ามากกว่า 100 แห่ง ครอบคลุมกว่า 2,800 มณฑลและเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ บริษัท Haier ยังมีโครงการสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมรีไซเคิลระดับชาติด้วยศูนย์เทคโนโลยีการจัดการขยะมูลฝอยและสารเคมีของกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีนซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้อินเทอร์เน็ต นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ และบล็อคเชน รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหากระบวนการอนุมัติที่ซับซ้อนและการป้อนข้อมูลจำนวนมากสำหรับการรื้อถอนเครื่องไฟฟ้าครัวเรือน รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมการรื้อถอนอีกด้วย

บริษัท Haier ไม่เพียงนำแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการนำยุทธศาสตร์ “คาร์บอนคู่” ไปใช้จริง แต่ยังเป็นแบบอย่างสำคัญในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนา ESG (Environment , Social Responsibility และ Corporate Governance) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันยังเป็นแบบอย่างของการสร้าง “เมืองสาธิตระบบรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้” และ “เมืองปลอดขยะ” ในมณฑลซานตงและเมืองชิงต่าว

6

  รูปภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/local/2394220

บทส่งท้าย

ปัจจุบันไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการกำจัดและการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหาเหล่านี้จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ การกำหนดแผนที่แนวทาง (Road Map) การแก้ปัญหา การประชาสัมพันธ์ การจัดทำโครงการต่าง ๆ การส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธีต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน BIC ชิงต่าว มองว่า ในอนาคตผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยสามารถศึกษานวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ จากโรงงานแห่งนี้ เพื่อนำไปบูรณาการให้เหมาะสมกับธุรกิจกำจัดขยะของตน และอาจมีความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ กับต่างประเทศในการพัฒนาระบบการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินการเหล่านี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในเรื่องการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว

แหล่งที่มา:

http://ex.chinadaily.com.cn/exchange/partners/82/rss/channel/cn/columns/snl9a7/stories/WS6315aeffa3101c3ee7ae73e9.html