“เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ” โอกาสที่น่าจับตามองของภาคอุตสาหกรรมทางทะเล

“เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ” โอกาสที่น่าจับตามองของภาคอุตสาหกรรมทางทะเล

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ค. 2565

| 883 view

เป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมทางทะเลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศ อุตสาหกรรมทางทะเลได้สร้างรายได้มหาศาลให้กับนานาประเทศ แต่ในขณะที่อุตสาหกรรมทางทะเลกำลังเฟื่องฟู ในทางกลับกันความเฟื่องฟูนี้กลับค่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่มากก็น้อย ดังนั้น ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลระบบนิเวศ องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงปัจเจกบุคคลต่างหันมาให้ความสนใจในปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มีการคิดค้นนโยบายต่าง ๆ มาตรการ แนวทางในการรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศ มีการบูรณาการให้เข้ากับการให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อาทิ แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า “แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน” หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “Blue Economy” นั้นคืออะไร เพราะอะไรจึงต้องมีแนวคิดนี้ขึ้นมา วันนี้ BIC ชิงต่าวจะพาผู้อ่านทุก ๆ ท่านมาทำความรู้จักแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ให้มากขึ้น

แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินคืออะไร

“เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)” เป็นประเด็นที่เพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ และยังมิได้มีการกำหนดคำนิยามที่แน่ชัด แต่ความหมายที่เข้าใจกันอย่างแพร่ หมายถึง แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้มีการดำรงชีพและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน แนวทางดังกล่าวถูกคิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์ที่พบว่า นักลงทุนและผู้ประกอบการมักคำนึงถึงเฉพาะต้นทุนและผลประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ส่วนรวม การกระทำดังกล่าวส่งผลทำให้ต้นทุนในการแก้ไขปัญหา ระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคง ระบบนิเวศ เช่น ปัญหามลภาวะ หรือความสูญเสียทางทรัพยากรธรรมชาติ ตกอยู่กับสังคมหรือส่วนรวม ดังนั้น เศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงถูกนำมาปรับใช้เพื่อสร้างสมดุลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรือง ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน กล่าวคือ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมริมชายฝั่งและทะเล

ในปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ได้รับความสนใจจากนานาประเทศอย่างกว้างขวาง เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวให้ความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศทางทะเล และเน้นให้กลุ่มคนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ ซึ่งความยั่งยืนทางทะเลนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยในหลายประเทศได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ครอบคลุมหลากหลายแง่มุม ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการประมง ด้านการขนส่ง ด้านพลังงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ด้านการท่องเที่ยว ด้านการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงด้านความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น

“จีน” ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน มีการบูรณาการให้เข้ากับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดนโยบายระดับชาติไปจนถึงนโยบายท้องถิ่น และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทางทะเลสมัยใหม่ รวมทั้ง เน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มผลประโยชน์และชุมชนในพื้นที่

หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจีนได้มีการกำหนดให้มลฑลซานตงเป็นเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินแห่งแรกของจีน ในชื่อของ “เขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินคาบสมุทรซานตงหรือ Shandong Peninsula Blue Economic Zone” วันนี้ BIC ชิงต่าวจะพาทุกท่านมาชมผลงาน การสร้างเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะของจีนในพื้นที่เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ซึ่งเป็นผลงานทางเทคโนโลยีนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงของมณฑลฯ และเป็นผลลัพธ์จากนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงินของจีนนั่นเอง

 

ทำความรู้จักเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ

เรือเลี้ยงปลา

“เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ” ที่หลายท่านรู้จักมีชื่อเรียกว่า เรือ “The Conson No 1” หรือ “กั๋วซิ่น 1” เป็นเรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะลำแรกของโลก มีมูลค่า 450 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.31 พันล้านบาท มีบริษัท Qingdao Conson Development Group เป็นผู้ลงทุน และมีการใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยเรือลำนี้ได้รับการออกแบบให้มีความยาว 249.9 เมตร ความกว้าง 45 เมตร ความสูง 21.5 เมตร เรือกินน้ำลึก 12 เมตร มีน้ำหนักบรรทุก 1.3 แสนตัน มีกระชังเลี้ยงปลา 15 กระชัง แต่ละกระชังมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของสระว่ายน้ำ พื้นที่เชิงปริมาตรของน้ำโดยรวมประมาณเกือบ 90,000 ลูกบาศก์เมตร เรือลำนี้มีจุดประสงค์ในการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลลึกที่มีผลผลิตสูงต่อปีปริมาณมากกว่า 2 แสนตัน รวมมูลค่าปลาที่เพาะเลี้ยงมากถึง 11,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในด้านการวิจัยและพัฒนาประเทศ โครงการนี้ยังมีเป้าหมายในการสร้างให้เป็นโครงการสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลน้ำลึกระดับสากล อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรประมงและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจีนที่เป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมทางทะเลของจีนในปัจจุบัน

 

เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะมีความพิเศษอย่างไร

เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะลำนี้มีการควบคุมแบบรวมศูนย์ 2,108 จุดบนเรือ ควบคุมแสง ออกซิเจน คุณภาพน้ำ (ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำทะเลคุณภาพสูง) และให้อาหารปลาแบบเรียลไทม์ ย่นวงจรชีวิตได้ 1 ใน 4 ความหนาแน่นของปลาในแต่ละกระชังสูงกว่ากระชังแบบดั้งเดิม 4-6 เท่า เลี้ยงปลาได้หลายสายพันธุ์ อาทิ ปลาเก๋า ปลาแซลมอนแอตแลนติก และปลาจวดเหลืองใหญ่ มีผลผลิตประมาณ 3,700 ตันต่อปี เท่ากับผลผลิตปลาของทะเลสาบฉากาน เมืองซงหยวน มณฑลจี๋หลิน ซึ่งเป็น 1 ในทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของจีน เรือลำนี้สามารถหลบหลีกพายุใหญ่หรือใต้ฝุ่นอย่างไร้ปัญหา รวมถึง ภัยพิบัติระดับสีแดงและสีอื่น ๆ ด้วยความเร็ว 10 นอต หรือประมาณ 18.52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

เหลียวมองไทยกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินบ้าง

ในประเทศไทยมีการนำแนวคิดที่เข้าข่ายเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) มาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมทางทะเล ที่ครอบคลุมไปถึงการท่องเที่ยวและการประมง เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต โดยส่งผลกระทบระบบนิเวศน้อยที่สุด เพียงแต่ในประเทศไทยแนวคิดนี้ยังมีการนำมาปรับใช้เพียงแค่ในวงที่ยังไม่กว้างมาก อีกทั้งยังไม่มีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ดังเช่นกรณีของจีน ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเลกว่า 320,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบก และมีความยาวของชายฝั่งทะเลกว่า 3,100 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด ทำให้ทรัพยากรทางทะเลสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างมาก คณะอนุกรรมการจัดการองค์ความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลทำการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไม่น้อยกว่า 24 ล้านล้านบาท โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการและพัฒนาไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของชายฝั่งทะเล แต่จะสามารถทำให้ไทยพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งได้โดยไม่สร้างความบอบช้ำแก่ระบบนิเวศได้ด้วย

บทส่งท้าย

แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) มีจุดร่วมกับ “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” และ “แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งสองแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นแนวคิดที่ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงปัจเจกบุคคลล้วนมีความคุ้นเคยในการนำไปปรับใช้ในการดำเนินงานหรือการใช้ชีวิตอยู่บ้างแล้ว  BIC ชิงต่าว เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมทางทะเลของไทยสามารถศึกษาต้นแบบการนำแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมมาบูรณาการให้เข้ากับประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินของประเทศ โดยอาจถอดบทเรียนและเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อต่อยอดการวิจัยพัฒนาร่วมกับจีนในด้านนี้ ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมทางทะเลของไทยทั้งหมด อาทิ การประมง การท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยกระกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด หากมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมทางทะเลของไทย คงเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่มีมูลค่าไม่น้อยและยังสามารถรักษาระบบนิเวศให้ดีได้ต่อไป โดยคนไทยและเพื่ออนาคตของไทย

 

 

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว

 

แหล่งที่มา

https://researchcafe.org/economic-policy/ 
https://researchcafe.org/study-of-potential-development-for-blue-economy/ 
https://www.xinhuathai.com/high/284001_20220521 
http://qingdao.chinadaily.com.cn/2022-05/23/c_755785.htm 
https://tdri.or.th/2020/09/blue-economy-thailand/
https://sd.iqilu.com/v7/articlePc/detail/7349617 
http://www.rmzxb.com.cn/c/2022-05-23/3122540.shtml