วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง พร้อมเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง (Qingdao Jiaodong International Airport) ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 เวลา 00.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) และปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิง (Qingdao Liuting International Airport) นับว่าเป็นโอกาสใหม่ในการเปิดโลกทัศน์ของเมืองรองเจียวโจว เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง
จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของเมืองชิงต่าว จึงได้สร้างท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตงขึ้น เนื่องด้วยท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิง มีข้อจำกัดในการรองรับผู้โดยสารและการขนส่ง ถึงแม้ว่าจะได้รับการบูรณะและขยายใหม่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งของเมืองชิงต่าว และเมืองท่าของมณฑลซานตงได้ ในปี 2553 ท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิง ให้บริการผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคนเป็นครั้งแรก และตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2562 ปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิง มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารปีละ 1.5 ล้านคนต่อปีโดยประมาณ และในปี 2562 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารสูงถึง 25.55 ล้านคน
ในปี 2558 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) ได้อนุมัติก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตงให้เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ของเมืองชิงต่าว โดยสำนักงานการบินพลเรือน จัดให้ท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง เป็น "ท่าอากาศยาน 4 ประเภท" แห่งแรก คือ (1) เป็นท่าอากาศยานแห่งความปลอดภัย (2) ท่าอากาศยานสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3) ท่าอากาศยานอัจฉริยะบริการครบวงจร (4) ท่าอากาศยานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของผู้โดยสาร และเป็นท่าอากาศยานนานาชาติระดับ 4F* แห่งแรกในมณฑลซานตง โดยรวมมีข้อได้เปรียบกว่าเมื่อเทียบกับท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิงระดับ 4E** ปัจจุบันท่าอากาศยานระดับ 4F เป็นระดับการบินพลเรือนที่สูงที่สุดในโลก ที่สามารถนำเครื่องบินขึ้นและลงได้มากขึ้น และรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ เช่น เครื่องบินแอร์บัส 380 เครื่องบินโบอิ้ง 747 และเครื่องบินขนาดใหญ่อื่น ๆ เป็นต้น
ท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับเส้นทางบินระหว่างประเทศทุกเส้นทาง โดยการสร้างในระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ 16.25 ตารางกิโลเมตร การลงทุนรวม 36,039 ล้านหยวน ก่อสร้างทางวิ่งทางไกลคู่ขนาน 2 ทางวิ่ง ยาว 3,600 เมตร โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 จะเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร 1 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 478,000 ตารางเมตร มีช่องประตูทางเดินขึ้นเครื่อง 184 ช่อง และคาดว่าในปี 2568 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 35 ล้านคนต่อปี รองรับสินค้าได้ 500,000 ล้านตันต่อปี รองรับเที่ยวบินประมาณ 300,000 เที่ยวต่อปี และระยะที่ 2 คาดแล้วเสร็จ ในปี 2588 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 55 ล้านคนต่อปี รองรับสินค้าได้ 1 ล้านตันต่อปี และรองรับเที่ยวบินประมาณ 452,000 เที่ยวต่อปี โดยมีเส้นทางการบินไปยังท่าอากาศยานภายในประเทศถึง 130 จุดหมายปลายทาง เช่น กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลเหอเป่ย นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลอานฮุย มณฑลเจ้อเจียง นครเฉิงตู นครฉงชิ่ง รวมถึงมาเก๊า ฮ่องกง และไต้หวัน และเส้นทางการบินระหว่างประเทศ รวมประมาณ 50 เมืองหลักในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น 17 เมือง กลุ่มประเทศอาเซียน และเอเชียใต้ 13 เมือง และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และทวีปออสเตรเลีย 20 เมือง เส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศประมาณ 11 เส้นทาง ซึ่งทำให้การขนส่งทางอากาศมีความรวดเร็วและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกให้ขยายใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
การสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่นี้ เป็นการผลักดันและเสริมสร้างระบบการพัฒนาของเขตสาธิตความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและประเทศสมาชิก SCO (The Shanghai Cooperation Organisation) โครงการเขตความร่วมมือการค้าจีน - เกาหลีใต้ (China-South Korea Trade Cooperation Zone) เขตการค้าเสรี Free Trade Zone ในมณฑลซานตงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมเขตสาธิตความร่วมมือเศรษฐกิจและการค้าท้องถิ่นของท่าอากาศยานนานาชาติเจียวตงให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญ เพื่อสร้างเวทีใหม่สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ "ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง" สร้างเมืองศูนย์กลางการคมนาคมสากลที่ครบวงจร
การออกแบบท่าอากาศยานฯ คล้ายกับรูปร่างของ “ปลาดาว” ที่แผ่กระจายใต้ท้องฟ้าสีคราม ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิง ไม่ถึง 30 กิโลเมตร โดยจากตัวอาคารรับรองผู้โดยสารเดินไปถึงแยกรูปปลาดาวทั้ง 5 ช่อง มีระยะทางเพียง 550 เมตร อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนเที่ยวบินทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ มีความสะดวกสบายในการตรวจความปลอดภัยที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นท่าอากาศยานอัจฉริยะ เช่น ระบบตรวจสอบความปลอดภัยอัจฉริยะ บริการระบบเช็คอินด้วยตัวเอง ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือบริเวณจุดนั่งรอขึ้นเครื่องบิน และแก้ปัญหาระบบที่ซับซ้อนและระยะเวลาในการเดินที่นานเกินไป การย้ายท่าอากาศยานในครั้งนี้ไม่เพียงเปลี่ยนที่ตั้งหรือเปลี่ยนทำเลที่ใหญ่ขึ้น หรือเพราะจำนวนของผู้โดยสารเท่านั้น แต่เป็นการวางแผนพร้อมรับมือกับการพัฒนาให้เป็นมหานครที่ทันสมัยในอนาคต
ทว่า การพัฒนาก่อสร้างพื้นที่แห่งใหม่ที่มีระยะทางไกลจากตัวเมืองมากขึ้น ย่อมตามมาด้วยอุปสรรคด้านการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ รัฐบาลมณฑลซานตงได้วางแผนการก่อสร้างโครงข่ายการเดินทางจากตัวเมืองชิงต่าว และจากท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง การเดินทางโดยสรุปมีดังนี้
1. เส้นทางรถไฟใต้ดิน ได้แก่ เส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 8 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังสนามบินแห่งใหม่ เป็นสายที่มีเส้นทางลอดใต้ทะเลที่ยาวที่สุดในจีน และได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างใจกลางเมืองชิงต่าวถึงท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตงด้วย โดยเริ่มจากสถานี Qingdao North Railway Station (青岛北站) มีระยะทาง 42 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 11 สถานี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที (ในระยะที่ 2 จะสร้างเพิ่มจากสถานี Qingdao North Railway Station (青岛北站) ไปจนถึงใจกลางเมืองที่สถานี May Fourth Square (五四广场)) และเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวหลิวถิง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง มีระยะทาง 41 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 35 นาที โดยเส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 1 หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นสาย 8 ที่สถานี Qingdao North Railway Station (青岛北站)
2. การเดินทางผ่านเส้นทางด่วน ที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองชิงต่าวถึงท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง มีดังนี้
- เส้นทางที่ 1 (ฝั่งตะวันตกของตัวเมืองชิงต่าว) ถนน Huanwan - ทางด่วน Qinglan - ทางด่วนสนามบินใหม่ Jiaodong
- เส้นทางที่ 2 (ฝั่งตะวันออกของตัวเมืองชิงต่าว) ทางด่วน Qingyin - Xiashuang - ทางด่วน Qinglan - ทางด่วนสนามบินใหม่ Jiaodong
- เส้นทางที่ 3 (เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ชายฝั่งตะวันตกของเมืองชิงต่าว) ทางด่วน Shenhai - ทางด่วน Qinglan - ทางด่วนสนามบินใหม่ Jiaodong
- เส้นทางที่ 4 (ฝั่งตอนเหนือของเมืองชิงต่าว) ทางด่วน Qingyin - ทางด่วนสนามบินใหม่ Jiaodong
3. การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ผู้โดยสารสามารถโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากสถานี Qingdao (青岛站) สถานี Qingdao North (青岛北站) และสถานี Qingdao West (青岛西站) ไปยังสถานีท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง หรือขึ้นรถไฟความเร็วสูงไปยังสถานี Jiaozhou North (胶州北站) และเปลี่ยนเป็นรถไฟใต้ดินสาย 8
การสร้างระบบขนส่งที่ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอก เป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของท่าอากาศยานฯ การสร้างความพร้อมในการให้บริการและการขนส่งในการเดินทางไปท่าอากาศยานฯ Ground Transportation Centre (GTC) นับว่าเป็นโครงสร้างที่สำคัญอย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยว โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมืองชิงต่าวได้เปิดใช้สถานีรถไฟ Hongdao (红岛站) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดของเมืองชิงต่าว และเป็นสถานีที่มีระยะห่างจากทะเลไม่ถึง 2 กิโลเมตร สามารถมองเห็นวิวทะเลได้ และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟใต้ดินสาย 8
เห็นได้ว่า เมืองชิงต่าวเป็นเมืองท่าที่สำคัญของมณฑลซานตง และชายฝั่งทะเลทางภาคเหนือ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563 เมืองชิงต่าว มี GDP 1,240,056 ล้านหยวน (GDP Growth 5.61%) และ CPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เนื่องจากภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง และการเชื่อมโยงทรัพยากรระดับโลกและตลาดต่างประเทศจะช่วยให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ ของโลกได้มากยิ่งขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายเททรัพยากร รวมถึงการถ่ายเทเงินทุน เทคโนโลยีและข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นพลวัตร และการเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง เปรียบเสมือนศูนย์กลางทางชายฝั่งทะเลภาคเหนือของจีนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ เสริมสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศต่าง ๆ เช่น RCEP SCO อาเซียน เป็นต้น นอกจากนี้ ท่าอากาศยานแห่งนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย การประยุกต์ใช้การผลิตแบบอัจฉริยะ มาเป็นฐานรากในการก่อสร้าง รวมถึงการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ในระดับสูงต่อไป ดังนั้น ในอนาคตท่าอากาศยานนานาชาติชิงต่าวเจียวตง เป็นอีกหนึ่งช่องทางจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการขนส่งและกระจายสินค้า รวมทั้งโอกาสในการแข่งขันสำหรับภาคธุรกิจไทยทางตอนเหนือของจีน เมืองท่า และเมืองชายฝั่งทะเลของจีน
หมายเหตุ:
การแบ่งระดับการจัดประเภทของสนามบินจีน แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้
1. *4F สนามบินระดับสูงที่สุด มีการบริการครบวงจร ระบบบริการที่ทันสมัย และสามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นลงได้ เช่น เครื่องบินแอร์บัส 380 และเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่มากอื่น ๆ มีเครื่องยนต์จำนวน 4 เครื่อง
2. **4E สนามบินระดับสูง มีการบริการครบวงจร และสามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นลงได้ เช่น เครื่องบินโบอิ้ง 747 เครื่องบินแอร์บัส 340 และเครื่องบินขนาดใหญ่อื่น ๆ มีเครื่องยนต์จำนวน 4 เครื่อง
3. 4D สนามบินระดับกลาง และสามารถนำเครื่องบินขนาดกลางขึ้นลงได้ เช่น เครื่องบินโบอิ้ง 767 เครื่องบินโบอิ้ง 747 ที่มีน้ำหนักเบา เครื่องบินแอร์บัส 300 และเครื่องบินขนาดใหญ่อื่น ๆ มีเครื่องยนต์จำนวน 2 เครื่อง
4. 4C สนามบินระดับเล็ก สามารถนำเครื่องบินขนาดเล็กขึ้นลงได้เช่น เครื่องบินแอร์บัส 320 เครื่องบินโบอิ้ง 737 และเครื่องบินขนาดเล็กอื่น ๆ มีเครื่องยนต์จำนวน 2 เครื่อง และมีเส้นทางการบินไม่ไกลมาก
5. 3C สนามบินระดับเล็กมาก สามารถนำเครื่องบินขนาดเล็กขึ้นลงได้ เช่น เครื่องบินโบอิ้ง 733 ERJ ARJ CRJ และเครื่องบินขนาดเล็กอื่น ๆ มีเส้นทางการบินระยะสั้น
ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจไทยในเมืองชิงต่าว
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว
แหล่งที่มา:
1. http://www.dailyqd.com/ (เว็บไซต์ทางการของเมืองชิงต่าว สำนักข่าว Qingdao Daily)
2. https://mp.weixin.qq.com/s/MlN5ZggFVZMH4wsPR8Ipmg (บัญชี Wechat ทางการของ Jiaozhou financial media center 云上胶州)
3. http://www.bandao.cn/ (เว็บไซต์ทางการของเมืองชิงต่าว สำนักข่าว 半岛网)
4. https://www.qingdaonews.com/ (เว็บไซต์ทางการของเมืองชิงต่าว สำนักข่าว qingdaonews)
5. https://www.163.com/dy/article/GDLD053M054277DE.html
6. https://www.163.com/dy/article/GDO76E8J0526NDJM.html
7. https://baijiahao.baidu.com/s?id=1703522702469447264&wfr=spider&for=pc
8. http://news.bandao.cn/a/522326.html
9. https://mp.weixin.qq.com/s/b4CIsq_7SsFuELn2iqLDeA
ภาพประกอบ:
1. http://news.qingdaonews.com/qingdao/2021-07/12/content_22791559.htm
2. https://www.163.com/dy/article/GDO76E8J0526NDJM.html
6 ม.ค. 2564
Working hours: Monday - Friday 09.00 - 12.00 and 13.00 - 17.00
WeChat Official Account: RTCG-Qingdao