ระบบอุตสาหกรรมทางทะเลสมัยใหม่ “ชิงต่าว 4+4+2”

ระบบอุตสาหกรรมทางทะเลสมัยใหม่ “ชิงต่าว 4+4+2”

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.ค. 2568

| 13 view

ระบบอุตสาหกรรมทางทะเลสมัยใหม่ “ชิงต่าว 4+4+2”

เมืองชิงต่าว เป็นหนึ่งในเมืองชายฝั่งที่สำคัญที่สุดของจีนตอนเหนือ โดยปี 2567 ที่ผ่านมา เมืองชิงต่าวมี GDP มูลค่ารวม 1,671,946 ล้านหยวน อยู่อันดับที่ 13 ของจีน โดย GDP ของอุตสาหกรรมทางทะเล มีมูลค่ารวม 551,320 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 33 ของ GDP ทั้งหมดของเมือง ทั้งนี้ นวัตกรรมและการวิจัยทางทะเล ทำให้เมืองชิงต่าวกลายเป็นศูนย์รวมสถาบันวิจัยทางทะเลเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ และมีเทคโนโลยีสาขาทางทะเลกว่าครึ่งอยู่แนวหน้าในระดับสากล ส่วนในด้านนโยบายนั้น รัฐบาลเมืองชิงต่าวได้ดำเนินนโยบายหลายประการ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจสีน้ำเงิน อุตสาหกรรรมและนวัตกรรมทางทะเลของเมืองชิงต่าวให้ก้าวสู่ระดับแนวหน้า บทความนี้ BIC จึงขอนำเสนอ ระบบอุตสาหกรรมทางทะเลสมัยใหม่ “ชิงต่าว 4+4+2” ที่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นนโยบายแบบ piece meal แต่เป็น “กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของเมือง”

1_เรือประมง

ภาพ: เรือประมงในเมืองชิงต่าว Cr. Wen Panda

ชิงต่าวกับ “อุตสาหกรรมทางทะเล”

อุตสาหกรรมทางทะเล (Marine Industry) เป็นอุตสาหกรรมหลักของเมืองชิงต่าว กล่าวคือ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากร หรือดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทะเลทั้งหมด ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางทะเล 2) ท่าเรือ 3) การขนส่งทางทะเล และ 4) บริการส่งเสริมและสนับสนุนทางทะเล ซึ่งในปัจจุบัน การพัฒนาอุตสาหกรรมทางทะเลได้มีการเปลี่ยนเป็นรูปแบบ “อุตสาหกรรมทะเลสมัยใหม่” โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ เมืองชิงต่าวได้จัดระบบอุตสาหกรรมทางทะเลสมัยใหม่ในรูปแบบ 4+4+2

ที่มาของกรอบ “ชิงต่าว 4+4+2”

กรอบ “ชิงต่าว 4+4+2” หมายถึง การจัดโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมทางทะเลที่ประกอบด้วย 4 อุตสาหกรรมหลักที่มีศักยภาพ (4个优势产业)ได้แก่ 1) การประมง 2) โลจิสติกส์ทางทะเล 3) การท่องเที่ยว และ 4) เคมีทางทะเล ส่วน 4 อุตสาหกรรมใหม่ (4个新兴产业)นั้นประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากทะเล 2) อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางทะเล 3) อุตสาหกรรมพลังงานใหม่จากทะเล และ 4) อุตสาหกรรมการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล สุดท้าย 2 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (2个未来产业)ได้แก่ 1) ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทางทะเล และ 2) การสำรวจทะเลลึก

กรอบดังกล่าวเกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลจีนในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล โดยมีเมืองชิงต่าว มณฑลซานตงเป็นศูนย์กลางสำคัญ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนครั้งที่ 13 นายหลี่ เฉียง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลซานตง ได้เสนอให้ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของมณฑลซานตงให้เป็นภาคเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคตอนเหนือ

ต่อมาในปี 2567 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ว่า “เราต้องใช้ข้อได้เปรียบจากทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์อย่างเต็มที่ ต้องพัฒนาศักยภาพทางทะเล เสริมสร้างความแข็งแกร่งจากทะเล สร้างกลุ่มท่าเรือระดับโลก และให้ความสำคัญกับพื้นที่เป้าหมาย ในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลสมัยใหม่” คำกล่าวนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีน ในการยกระดับเมืองชายฝั่งให้เป็นกำลังหลักทางเศรษฐกิจ

ภายใต้แนวทางดังกล่าว นายเจิง จ้านหรง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองชิงต่าว (เดือนธันวาคม 2566-ปัจจุบัน) จึงได้ริเริ่มกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจทะเลในรูปแบบ “4+4+2” เพื่อเร่งยกระดับอุตสาหกรรมทางทะเลของชิงต่าว โดยเน้นการปรับปรุงคุณภาพการพัฒนา สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจ

กรอบ “ชิงต่าว 4+4+2” มีเป้าหมายสำคัญสองระยะ ได้แก่ ระยะแรก ภายในปี 2570 ต้องจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทางทะเลเฉพาะทางจำนวน 10 แห่ง และมีนิคมอุตสาหกรรมระดับมณฑลจำนวน 5 แห่ง ระยะที่สอง ภายในปี 2573 ต้องมีเขตอุตสาหกรรมทางทะเลเฉพาะทางเพิ่มขึ้นรวมเป็น 15 แห่ง และเขตอุตสาหกรรมระดับมณฑลเพิ่มขึ้นรวมเป็น 8 แห่ง  2_เจิง_จ้านหรง

ภาพ: นายเจิง จ้านหรง เลขาธิการพรรคฯ เมืองชิงต่าว เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยด้านพลังงานประจำเมืองชิงต่าว Cr. สำนักข่าว Qingdao News

เจาะลึก “ชิงต่าว 4+4+2”

4 อุตสาหกรรมหลักที่มีศักยภาพ โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้นี้เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจทางทะเลที่มีศักยภาพสูงของเมืองชิงต่าวอยู่แต่เดิม แล้วจึงพัฒนายกระดับคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ใช้นวัตกรรมต่อยอดให้ทันสมัย และเพิ่มมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่ 1) การประมง - เน้นพัฒนาฟาร์มทะเลในเขตชายฝั่งตะวันตกใหม่(西海岸新区)โดยการบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำฟาร์ม 2) โลจิสติกส์ทางทะเล – กลุ่มท่าเรือซานตง กลุ่มท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้พัฒนาท่าเรือต่าง ๆ ใน เมืองชิงต่าวให้เชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่ 3) การท่องเที่ยว 4) เคมีทางทะเล – เน้นการพัฒนาในนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหวงต่าว(黄岛石化园区)และนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำทะเลในเขตชายฝั่งตะวันตกใหม่ ที่สกัดเคมีภัณฑ์จากน้ำทะเล รวมถึงการจัดตั้งเขตคลัสเตอร์พลังงานและเคมีที่ทันสมัย

4 อุตสาหกรรมเกิดใหม่ คือ การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากทะเล – มีการพัฒนาในเขตเหลาซานโดยมีสถาบันวิจัยชีวการแพทย์เป็นศูนย์กลางสำคัญในการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน เช่น ยาต้านไวรัสตับอักเสบบี (LY102) และยาต้านการแข็งตัวของเลือด (LY103) ซึ่งเป็นยาที่มีองค์ประกอบหลักจากทะเล 2) อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางทะเล – ศูนย์ปฏิบัติการหลายแห่งในชิงต่าวได้อุปกรณ์วิจัยทางทะเล เครื่องจักรเดินเรือ และระบบที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการขนส่งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทะเล 3) อุตสาหกรรมพลังงานใหม่จากทะเล – เน้นการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนจากทะเล เช่น พลังงานลมและพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งดั้งเดิม 4) อุตสาหกรรมการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล – มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเขตหวงต่าว(黄岛区)และเขตชายฝั่งตะวันตกใหม่ เพื่อผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและส่งเสริมความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในภูมิภาค

2 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คืออุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอีก 10–20 ปีข้างหน้า โดยเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เน้นการลงทุนเพื่ออนาคต การสร้างนวัตกรรม และการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมทางทะเล ประกอบด้วย 1) ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทางทะเล – มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทะเล อาทิ Qingdao Blue Silicon Valley เขตพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลขั้นสูงเมืองชิงต่าว (青岛海洋高新区) 2) การสำรวจทะเลลึก – ผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสำรวจทรัพยากรและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ใต้ท้องทะเลลึก

3_ท่าเรือชิงต่าว

ภาพ: ท่าเรือชิงต่าว ภายใต้กลุ่มท่าเรือซานตง Cr. สำนักข่าว Guanhai

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

การผลักดันของกรอบยุทธศาสตร์ “ชิงต่าว 4+4+2” ส่งผลให้สร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมทะเล 210,000 ล้านหยวน รวมทั้งเกิดบริษัทเทคโนโลยีทางทะเลแห่งใหม่ เป็นจำนวนมาก และเกิดการขยายตัวทางโครงสร้างเศรษฐกิจทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1. อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทางทะเลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ปี 2567 เมืองชิงต่าวมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเล 650 ล้านตัน เป็นอันดับที่ 4 ของจีน และมีปริมาณขนส่งตู้สินค้า (TEU) กว่า 30 ล้านตู้ ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในภาคเหนือของจีน นอกจากนี้ยังมีการสร้างและปรับปรุงท่าเรือ เรียกว่า ท่าเรืออัตโนมัติ “5G smart port” แห่งแรกในเอเชีย

2. อุตสาหกรรมการประมงมีผลผลิตและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเน้นการเปลี่ยนผ่านจากการประมงแบบดั้งเดิม ไปสู่การประมงทะเลสมัยใหม่ ในปี 2567 มีผลผลิตการประมงเพิ่มขึ้นถึง 1.03 ล้านตัน มีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของมณฑลซานตง และมีผลผลิตมูลค่ารวมเกิน 2,446 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 โดยมีการพัฒนาเรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและจัดการเพาะสัตว์น้ำแบบอัตโนมัติชื่อว่า “กั๋วซิ่น หมายเลข 1(国信1号)” ทำให้สามารถเพาะเลี้ยงได้มากถึง 100,000 ตัน นอกจากนี้ ในอนาคต ยังมีการวางแผนการส่งเสริมพัฒนาเรือเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนอีกสองลำ คือ “กั๋วชิ่น หมายเลข 2-1(国信2-1号)” และ “กั๋วชิ่น หมายเลข 2-2(国信2-2号)” รวมถึงโครงการวิจัยปลาเพศผู้เทียม (伪雄鱼诱导技术) ของสถาบันวิจัยชิงต่าวบลูซีด(青岛蓝色种业研究院)ที่ใช้วิธีชักนำฮอร์โมนเพื่อให้ปลาเพศผู้ผสมพันธุ์แล้วได้ลูกเพศเมียเท่านั้น เนื่องจากปลาเศรษฐกิจส่วนใหญ่เพศเมียมีมูลค่าสูงกว่าเพศผู้

3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลมีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจาก 1) มีการพัฒนาเส้นทางเรือโดยสาร ไป-กลับ ระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีผู้ใช้บริการ 2.6 ล้านคน มูลค่ารวมการท่องเที่ยวทางเรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 90 เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 442,200 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.3 เมื่อเทียบกับปี 2566 และมีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ 50,500 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 2) มีนโยบายมอบส่วนลดให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ และ 3) มีโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมทางทะเลของชิงต่าว โดยกลุ่มลงทุนการท่องเที่ยวฝั่งตะวันตกของชิงต่าว ผ่านชุดการแสดงแบบพาโนรามาขนาดใหญ่ “ชิงต่าวบนพื้นผิวทะเล(海上有青岛)” จัดแสดงที่โรงละครถังต่าว ศูนย์ศิลปะเกาะฟ่งหวง

4. นวัตกรรมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทางทะเลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) มีการใช้นวัตกรรมกักเก็บและลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทางทะเล 2) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ของพื้นที่ปิโตรเคมีของท่าเรือตงเจียโข่ว และ 3) พัฒนาสีเคลือบตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนของน้ำมันก๊าดดิบ

4_เรือกั๋วซิ่น

ภาพ: เรือกั๋วซิ่น หมายเลข 1 Cr. สำนักข่าว Dazhong

บทสรุป

ด้วย “ทะเล” ได้ให้หลายสิ่งๆ กับเมืองชิงต่าว จนอาจกล่าวได้ว่าเมืองชิงต่าว “เกิดมาจากทะเล และเจริญรุ่งเรืองเพราะทะเล (因海而生、向海而兴)”ทางการเมืองชิงต่าวจึงได้ตีกรอบ “ชิงต่าว 4+4+2” เพื่อให้อุตสาหกรรมทางทะเลของชิงต่าวพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมเดิม การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และการวางรากฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

BIC มองว่าการดำเนินกรอบยุทธศาสตร์นี้เป็นก้าวสำคัญที่จะส่งผลให้เมืองชิงต่าวกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทะเลสมัยใหม่ของจีน ทั้งในด้านมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการขยายความร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจ โดยดฉพาะเป้าหมายทั้ง 2 ระยะ ที่จะจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทางทะเลเฉพาะทางและนิคมอุตสาหกรรมระดับมณฑลให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากผลลัพธ์ของกรอบนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมืองชิงต่าวจะเป็นแบบอย่างสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลสมัยใหม่ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยอาจพิจารณาจัดทำความร่วมมือต่อไป

สุดท้ายนี้ หากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยมีความเข้าใจในกรอบดังกล่าว ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือที่สอดคล้องกับกรอบ “ชิงต่าว 4+4+2” ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การศึกษาค้นคว้าวิจัยทางทะเลของภาคการศึกษา หรือจะเป็นการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจ เพื่อสร้างการร่วมมือแบบ win-win ของไทยและชิงต่าว

 

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว

 

อ้างอิง

KC Lem. (n.d.). Role and importance of marine ship industry. Retrieved from https://kclem.com/role-and-importance-of-marine-ship-industry/

百度百科. (n.d.). 海洋产业. Retrieved from https://baike.baidu.com/item/%E6%B5%B7%E6%B4%8B%E4%BA%A7%E4%B8%9A/1083450

百度地图. (n.d.). POI数据. Retrieved from https://map.baidu.com/bdpoiwise/index.html?uid=428de8b52b624cb9fda778c5

百度百家号. (2024). 海洋产业发展分析. Retrieved from https://baijiahao.baidu.com/s?id=1828337270113722130

百度百家号. (2024). 青岛海洋经济动态. Retrieved from https://baijiahao.baidu.com/s?id=1806014231094581567

百度百家号. (2024). 海洋科技创新. Retrieved from https://baijiahao.baidu.com/s?id=1818832414717335466

科技日报. (2024). 青岛海洋科技报道. Retrieved from https://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2024-02/06/content_566877.htm

Xinnovis. (n.d.). 海洋产业新闻. Retrieved from https://www.xinnovis.com/news_1/14.html

Port Economics. (n.d.). Elements of maritime industry. Retrieved from https://porteconomicsmanagement.org/pemp/contents/introduction/defining-seaports/elements-maritime-industry/

百度百家号. (2024). 青岛海洋经济政策. Retrieved from https://baijiahao.baidu.com/s?id=1826266473146751754

 

新华网. (2024). 山东海洋产业报告. Retrieved from http://www.sd.xinhuanet.com/20240813/3793404d9f294c398ff6aed74b956b8c/c.html

济南新闻. (2025). 青岛海洋项目动态. Retrieved from https://www.jnnews.tv/yaowen/2025/07-01/3Dl04gBD.html

百度百家号. (2025). 青岛“海洋4+4+2”产业体系. Retrieved from https://baijiahao.baidu.com/s?id=1835038411523522204

山东省发改委. (2025). 海洋经济发展规划. Retrieved from http://fgw.shandong.gov.cn/art/2025/4/2/art_104926_10463517.html

青岛市商务局. (2025). 海洋中心建设进展. Retrieved from http://bofcom.qingdao.gov.cn/swjzz_59/jsdw_59/qdszscjzx_59/gzdt_59/202505/t20250515_9487359.shtml

半岛网. (2025). 青岛海洋经济成果. Retrieved from http://news.bandao.cn/a/1735957240249049.html