จีนผลักดันท่าเรือชิงต่าวสู่ศูนย์กลางท่าเรือสำราญในน่านน้ำจีนตอนเหนือ

จีนผลักดันท่าเรือชิงต่าวสู่ศูนย์กลางท่าเรือสำราญในน่านน้ำจีนตอนเหนือ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 929 view

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเรือสำราญได้เคลื่อนย้ายธุรกิจที่เคยมีอยู่เพียงในซีกโลกตะวันตกมายังทวีปเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตขึ้นร้อยละ 7-8 ต่อปี ธุรกิจเรือสำราญจึงได้รับการเปรียบเทียบเหมือนเป็นอุตสาหกรรมทองคำ โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเรือสำราญที่เดินทางออกจากท่าเรือในประเทศจีนเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคน และในอนาคต จีนคาดหวังว่าจะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 บริษัท Star Cruises ได้จัดพิธีเปิดการให้บริการเรือสำราญ "SuperStar Virgo" ซึ่งเป็นเรือสำราญขนาด 75,000 ตัน สามารถรองรับผู้โดยสาร 2,600 คน โดยใช้ท่าเรือชิงต่าว เป็นท่าเรือต้นทาง และปลายทาง เพื่อท่องเที่ยวในเส้นทางการเดินเรือสู่ประเทศญี่ปุ่นในเกาะคิวชู ได้แก่ เมืองนางาซากิ เมืองคาโงชิมะ เมืองซาเซโบะ และเมืองฟุกุโอกะ ซึ่งในการเดินเรือในครั้งนี้ มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 2,200 คน 

ผลประโยชน์มหาศาลที่เกิดจากการเป็นเมืองท่าเรือสำราญ ทำให้เกิดการแข่งขันกันเสนอพื้นที่น่านน้ำของตนเป็นพื้นที่จอดเรือสำราญ ความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองชิงต่าวที่เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม    มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่โดดเด่น ความสวยงามของสถาปัตยกรรม รวมถึงการเป็นหนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน นับเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เมืองชิงต่าวกลายเป็นพื้นที่ 1 ใน 4 เมือง รองจากนครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน และเมืองเซินเจิ้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวด้วยการเดินเรือที่เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งยังได้กำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบเรือสำราญของประเทศจีน ภายใต้แผนพัฒนาการท่องเที่ยว 5 ปี ฉบับที่ 13 ที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีจีน 

ตามแผนพัฒนาฯ ในปี 2563 ชิงต่าวจะกลายเป็นศูนย์กลางท่าเรือสำราญในน่านน้ำจีนตอนเหนือ และ  จะเติบโตเป็นศูนย์กลางเรือสำราญที่สำคัญในเอเชียตะวันออก และในที่สุดจะเติบโตเป็นผู้นำทางด้านเรือสำราญระดับโลกที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารนานาชาติ การเงิน การพาณิชย์ ธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน โดยชิงต่าวได้สร้างท่าเทียบเรือสำราญ 3 ท่า บนพื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร ด้วยความกว้างหน้าท่าเรือ 966 เมตร ซึ่งจะสามารถรองรับเรือสำราญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีขนาดบรรทุกถึง 225,000 ตัน ในส่วนของโครงสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารในท่าเทียบเรือ มีการตกแต่งและออกแบบที่สวยงามและทันสมัย ภายในประกอบด้วยศูนย์กลางธุรกิจ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ  อีกทั้งมีการออกแบบพื้นที่รองรับพิธีการศุลกากร ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุดถึง 3,000 - 4,000 คนต่อชั่วโมง โดยมีการประมาณการรองรับนักท่องเที่ยวประจำปีไว้ถึง 1,500,000 คน และนับตั้งแต่เปิดใช้งานท่าเทียบเรือในปี 2558 มีการรองรับเรือสำราญมาแล้ว 266 เที่ยว และผู้โดยสารมากถึง 300,000 คน

เมืองชิงต่าว มีแผนที่จะสร้างการบริการระดับไฮเอนด์ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของพิธีการทางศุลกากร โดยในปี 2561 ท่าเทียบเรือชิงต่าวเปิดให้บริการการผ่านพิธีการศุลกากร โดยไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มเป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยลดระยะเวลาลงจากเดิมได้ถึง 9 เท่า นอกจากนี้ สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศจีนผ่านศูนย์เรือสำราญนานาชาติชิงต่าว ยังมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทคนเดินทางผ่าน (144 hours free-visa transit) รวมถึงยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเป็นกลุ่มที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราวในการพำนักระยะสั้นที่ประเทศจีน  ไม่เกิน 15  วัน ภายใต้ความร่วมมือกันของหน่วยตรวจสอบท่าเทียบเรือ ทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญของ Qingdao Cruise Terminal เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากบริษัทและนักท่องเที่ยวเรือสำราญ

จากการเป็นเพียงท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หลังจากมีการส่งเสริมการดำเนินงานของท่าเรือในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปี จะส่งผลให้ชิงต่าวกลายเป็นท่าเรือสำราญระดับ World Class และธุรกิจเรือสำราญยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของเมืองชิงต่าวอย่างมาก

ตลาดการท่องเที่ยวแบบล่องเรือของจีน ยังคงอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าร้อยละ 0.1 เห็นได้ว่า ตลาดเรือสำราญยังสามารถเติบโตขึ้นได้อีกมากในปี 2561 กลุ่มบริษัท เก็นติ้ง ได้เปิดเส้นทางเดินเรือในพื้นที่น่านน้ำประเทศจีน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาด และจากการสำรวจของบริษัทฯ ทำให้ทราบว่า ตลาดผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุ มีส่วนแบ่งในตลาดอย่างมาก ในเวลาเดียวกัน มีการจัดตั้งความร่วมมือในการเปิดการเดินทางรูปแบบใหม่ที่รวมเอาการเดินทางโดย "รถไฟความเร็วสูง+ล่องเรือ" และ "เครื่องบิน+ล่องเรือ" ในประเทศจีน เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยหวังว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมการล่องเรือของจีนจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันตลาดเรือสำราญของจีนให้สำเร็จไปตามแผนการที่วางไว้

สำหรับในประเทศไทย กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2560 มีเรือสำราญเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 363 ลำ มีนักท่องเที่ยวที่มากับเรือมากกว่า 368,800 คน และมีเรือสำราญนำนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกจากท่าเรือจูไห่ของจีน ไปเทียบท่าที่เกาะสมุย ประเทศไทยด้วย

 

 

*******************

 

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว