นักท่องเที่ยวจีนไม่ง้อทัวร์ และหันมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

นักท่องเที่ยวจีนไม่ง้อทัวร์ และหันมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 765 view

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติจีนระบุว่า ในช่วงสัปดาห์วันชาติจีน (1-7 ต.ค. 61) ที่ผ่านมา  มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนขาออก 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีจุดหมายปลายทางกว่า 88 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นการเดินทางมาประเทศไทย 180,807 คน ขยายตัวร้อยละ 2.77 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา รองลงมาคือ ญี่ปุ่น และฮ่องกง

สถิติจากเว็บไซต์ Ctrip ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวทางออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน พบว่า ในปี 2561 นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพิ่มสูงขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัวจากปีก่อน โดยเลือกเข้าร่วมกิจกรรมที่มีในท้องถิ่น อาทิ การเข้าชมการแสดงพื้นบ้านและพิพิธภัณฑ์ การเล่นกีฬาผจญภัย การดำน้ำ การขึ้นบอลลูน แทนการไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป

ในบรรดาจุดหมายปลายทางของโลก ประเทศไทยยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปประเทศไทยจะลดลงถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย Ctrip ระบุว่า เหตุผลที่จำนวนผู้โดยสารเดินทางไปยังประเทศไทยน้อยลง น่าจะมีสาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุทางเรือที่เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลในด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  

ปัจจุบัน พฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนเปลี่ยนไป โดยสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยไม่ผ่านบริษัททัวร์ (Free Individual Traveler) เพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 70 นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีความต้องการท่องเที่ยวอย่างอิสระ และต้องการเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ ยังชอบที่จะถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวผ่านสื่อสังคมออนไลน์

Ctrip ยังระบุอีกว่า อาชีพมัคคุเทศก์ในภูเก็ต กรุงเทพ และบาหลี กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ท่ามกลางความนิยมเดินทางแบบ Tailor - made Tour หรือการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นตามความประสงค์ของผู้ท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มักจะเลือกใช้บริการมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เนื่องจากสามารถช่วยจัดเตรียมที่พัก วางแผน       การเดินทาง และสามารถนำเที่ยวแบบเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ อีกทั้งยังสามารถให้ความช่วยเหลือและบริการ ในด้านต่าง ๆ ได้ด้วยภาษาท้องถิ่น ซึ่งพวกเขาจะเลือกจองตั๋วเดินทางด้วยตนเอง ค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจก่อนการเดินทาง โดยเลือกจองมัคคุเทศก์นำเที่ยวท้องถิ่น และติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งความประสงค์ในการเดินทาง จากนั้น มัคคุเทศก์จะเป็นผู้แนะนำแผนการเดินทางที่เหมาะสมให้กับนักท่องเที่ยว  ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะนี้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความพอใจของนักท่องเที่ยว

ตามรายงานจาก China Tourism Academy  ระบุว่า นอกเหนือจากประเทศไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแล้ว ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนามและสิงคโปร์ ก็ได้รับการจัดอันดับประเทศน่าท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดด้วย โดยนายเฉิน หลิน วัย 24 ปี จากกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า การเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นของเขาในระยะเวลา 5 วัน เป็นไปอย่างสะดวกสบาย เนื่องจากความช่วยเหลือจากการบริการมัคคุเทศก์นำเที่ยวที่สำรองผ่านแอปพลิเคชัน Ctrip ที่สามารถพูดได้ทั้งภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น ทำให้ช่วยลดปัญหาความเข้าใจผิดในระหว่างการเดินทาง อีกทั้งยังสามารถให้คำแนะนำในการเดินทาง ตลอดจนที่พักที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

นาย Li Chaofan หัวหน้าสำนักงานของ Shandong Kanghui International Travel Service กล่าวว่า   ในปี 2561 การเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีน เพื่อท่องเที่ยวในช่วงหยุดวันชาติจีน คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยเลือกใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 5-6 วัน พวกเขาสนใจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และนิยมเดินทางพร้อมครอบครัวทั้งเด็กและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังเลือกการท่องเที่ยวกึ่งอิสระ กล่าวคือ มุ่งเน้นความสะดวกสบาย มีความยืดหยุ่น และเป็นอิสระ 

จากสถิติและรายงานที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนในปัจจุบัน คำนึงถึงเหตุผลในการเลือกจุดหมายปลายทาง ดังต่อไปนี้

1. ความน่าสนใจของจุดหมายปลายทาง นอกจากความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรมต่าง ๆ ยังมีความต้องการเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเปิดประสบการณ์ โดย Ctrip ให้ข้อสังเกตว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเลือกจองตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Van Gogh ประเทศเนเธอร์แลนด์ มากขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีก่อน

2. ความสะดวกในการเดินทาง เห็นได้จาก นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปยังฮ่องกงในช่วง  วันชาติจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เนื่องจากมีการเปิดใช้งานรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และมีราคาที่ถูกลง โดยในช่วง วันชาติปีนี้ ชาวจีนใช้รถไฟความเร็วสูงในการเดินทางถึงร้อยละ 38.7 รองลงมาคือเครื่องบินคิดเป็นร้อยละ 22.1

3. ราคา นักท่องเที่ยวจีนในปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคไป โดยมุ่งเน้นที่คุณภาพ และไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย ดังนั้นผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวจึงควรศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายการบริโภคของนักท่องเที่ยว เพื่อให้บริการได้อย่างตรงจุด

4. ความปลอดภัย ด้วยลักษณะของการเดินทางกับครอบครัวทั้งเด็กและผู้สูงอายุ นักท่องเที่ยวจีนจึงมีความใส่ใจกับการปกป้องความปลอดภัยส่วนบุคคลและทรัพย์สินเป็นพิเศษ ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวจึงควรเห็นความสำคัญและใส่ใจกับระบบรักษาความปลอดภัย โดยการตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพของอุปกรณ์ดูแลรักษาอยู่เสมอ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุ

ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถทำความเข้าใจ และอาจปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวจีนที่เปลี่ยนไป เพื่อคงความเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของชาวจีน รวมทั้งศึกษาและควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ และได้รับความนิยมในกลุ่มชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยที่ราคาไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ความปลอดภัยและการตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในเรื่องความปลอดภัย ลักษณะของสถานที่ที่น่าสนใจ การให้บริการและความสะดวก กลายเป็นปัจจัยหลัก

 

*********************

 

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว