จับตามองอุตสาหกรรมเครื่องดนตรี และการเติบโตของธุรกิจการเรียนดนตรีของจีน

จับตามองอุตสาหกรรมเครื่องดนตรี และการเติบโตของธุรกิจการเรียนดนตรีของจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,644 view

จีนกลายเป็นตลาดค้าเครื่องดนตรีรายใหญ่อันดับสองของโลก อีกทั้งการเติบโตของธุรกิจการเรียนการสอนดนตรีแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง กระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินในตลาดจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ มณฑลซานตงจะสามารถคว้าโอกาสจากอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไร

ดนตรีเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับคนในสังคม ซึ่งได้กลายเป็นที่นิยมและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบันอย่างมาก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดเครื่องดนตรีอันดับสองของโลก โดยในปี 2560 ตลาดเครื่องดนตรีจีน สามารถสร้างมูลค่าสูงถึง 44,800 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 30 ของตลาดเครื่องดนตรีทั่วโลก       

จีนเป็นประเทศหลักในการผลิตเครื่องดนตรี มากกว่าร้อยละ 60 ของเครื่องดนตรีที่เป็นที่นิยมผลิตขึ้นในประเทศจีน มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1 หมื่นล้านหยวนต่อปี ในอนาคต จีนมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และยกระดับคุณภาพการผลิต เพื่อพัฒนาเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพระดับกลางไปสู่คุณภาพระดับสูง อย่างไรก็ตาม ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2561 การนำเข้าเครื่องดนตรีสากลของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีนโยบายลดภาษีนำเข้าเครื่องดนตรีจากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 10 คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าเครื่องดนตรีจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561ขยายตัวสูงขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากตลาดเครื่องดนตรีจะขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว อัตราการเติบโตของตลาดการเรียนดนตรีของจีนก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตลาดการเรียนดนตรีขยายตัวขึ้นร้อยละ 20 สร้างมูลค่ากว่า 100,000 ล้านหยวน (ประมาณ 500,000 ล้านบาท) ซึ่งเติบโตขึ้นมากกว่าตลาดเครื่องดนตรีถึง 2 เท่า จากการสำรวจของสมาคมเครื่องดนตรีจีนพบว่า เมื่อปี 2560 จำนวนนักเรียนในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้นที่เรียนดนตรีในโรงเรียนทั้งระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา อยู่ที่ 1,355,000 คน สามารถสร้างมูลค่าการค้าเครื่องดนตรีสูงถึง 544 ล้านหยวน (2,720 ล้านบาท) และมูลค่าการค้าของตลาดการเรียนดนตรีสูงถึง 2,650 ล้านหยวน (13,250 ล้านบาท)  รวมแล้วมีมูลค่ากว่า 3,200 ล้านหยวน (16,000 ล้านบาท) โดยเป็นสัดส่วนของการเรียนเปียโนถึงร้อยละ 50

ขณะที่ความต้องการทางอุตสาหกรรมดนตรีในตลาดเพิ่มสูงขึ้น เปียโนกลายเป็นเครื่องดนตรียอดนิยมสำหรับผู้ปกครองที่มักจะส่งลูกเข้าคอร์สเรียนเปียโน เพื่อฝึกสมาธิ อีกทั้งคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุในสังคมจีนจำนวนมากต่างก็หันมาเรียนเปียโน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ตัวเอง และผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเป็นโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมได้พัฒนาอุปกรณ์เครื่องดนตรี เพื่อสร้างยอดขายให้แก่บุคคลวัยดังกล่าวในอนาคต ตามสถิติของสมาคมเครื่องดนตรีจีน พบว่าในปี 2560 จำนวนครัวเรือนในเขตเมือง 100 ครัวเรือน จะมีเปียโน 5.82 เครื่อง และมีเครื่องดนตรีอื่น ๆ อยู่ที่ 5.87 เครื่อง ทั้งนี้ ในปี 2563 คาดว่า จำนวนเปียโนต่อ 100 ครัวเรือนในเขตเมืองของจีนจะสูงถึง 8.62 เครื่อง และเครื่องดนตรีอื่น ๆ จะเป็น 6.46 เครื่อง นอกจากการเรียนเปียโนที่เป็นเครื่องดนตรีสากลที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันแล้ว ในทำนองเดียวกัน การเรียนดนตรีพื้นบ้านของจีน อาทิ  “กู่เจิง” หรือเครื่องสายดีดโบราณ ก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  

มณฑลซานตงเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตและเป็นฐานการส่งออกเครื่องดนตรีที่สำคัญของจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าลมไม้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำด้านวัฒนธรรมของเมืองหลงโข่ว ซึ่งเป็นเมืองรองของเมืองเยียนไถ โดยมีผู้ผลิตหลัก 44 ราย ส่วนใหญ่ผลิตเครื่องเป่าลมไม้ ได้แก่ ฟลูต คลาริเน็ท พิคโคโล ฮอร์น ทรอมโบน แซคโซโฟน และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ

ในเมืองฉางเล่อ ซึ่งเป็นเมืองรองของเมืองเหวยฟาง มีบริษัทเครื่องดนตรีมากกว่า 80 บริษัท มีพนักงานกว่า 10,000 คน มีการจำหน่ายเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ได้แก่ กีตาร์ไฟฟ้า เบสไฟฟ้า กีตาร์อะคูสติก เบสโปร่ง เปียโนไฟฟ้า และแซ็กโซโฟน รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ โดยส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 30 ประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า มณฑลซานตง ซึ่งเป็นฐานการส่งออกเครื่องดนตรีที่สำคัญของประเทศจะพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดนตรี และใช้โอกาสการเติบโตทางธุรกิจดังกล่าว เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคตในทิศทางใด

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมดนตรีสามารถสร้างมูลค่าประมาณปีละ 35,000 ล้านบาท ด้วยรูปลักษณ์ วัสดุ และเสียงของเครื่องดนตรีไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากสามารถใช้โอกาสที่คนยุคใหม่ มองการเล่นดนตรีเป็นงานศิลปะที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจ และนำเครื่องดนตรีไทยที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ผลักดันสู่ตลาดเครื่องดนตรีระดับโลก นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตลาดเครื่องดนตรีไทยแล้ว ยังสามารถช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลกได้อีกด้วย

 

 

*********************************

 

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว