ธุรกิจโรงยิมและฟิตเนสขยายตัวสูงในจีน และสามารถส่งเสริมในเมืองชิงต่าวให้เพิ่มมากขึ้นได้

ธุรกิจโรงยิมและฟิตเนสขยายตัวสูงในจีน และสามารถส่งเสริมในเมืองชิงต่าวให้เพิ่มมากขึ้นได้

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 902 view

การรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายในประเทศจีนกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีความเป็นเมืองมากขึ้น จำนวนผู้บริโภคชาวจีนที่เติบโตขึ้น และมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น   ส่งผลให้ในปี 2561 อุตสาหกรรมการออกกำลังกายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2561 ธุรกิจโรงยิมและฟิตเนสของจีน สามารถสร้างรายได้กว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเติบโตไปพร้อมกับตลาดเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา โดยคาดว่า ธุรกิจสาขานี้ ทั้งหมดจะสร้างมูลค่าสูงถึง 280.8 พันล้านหยวน (1.404 ล้านล้านบาท)

ตามรูปแบบการออกกำลังกายแนวใหม่และกลยุทธ์ทางการตลาด

ในปี 2544 ประเทศจีนมีสถานออกกำลังกายทั่วประเทศราว 500 แห่ง แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขสถานออกกำลังกายเพิ่มสูงขึ้นถึง 37,000 แห่งทั่วประเทศ และตามรายงานจาก China Business Research Academy ในปี 2560 ประเทศจีน มีจำนวนสมาชิกในศูนย์ออกกำลังกายมากถึง 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 หนึ่งเท่าตัว

จากแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหลายราย มีแผนขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน อาทิ บริษัท Anytime Fitness จากสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนการที่จะจัดตั้งโรงยิมใหม่จำนวน 500 แห่งในประเทศจีนในเร็ว ๆ นี้ และมีการเปิดกิจการโรงยิมขนาดเล็กหรือบูติกยิมจำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งการพัฒนาและรูปแบบใหม่ของธุรกิจสุขภาพดังกล่าว ได้ทำลายรูปแบบเดิม ของการสร้างศูนย์ออกกำลังกายขนาดใหญ่ หรือโรงยิมแฟรนไชส์

ในด้านพฤติกรรมการออกกำลังกาย ชาวจีนนิยมเลือกออกกำลังกายในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบัน   ฟิตเนสในจีนเปิดให้บริการหลักสูตรการออกกำลังกายแนวใหม่มากมาย ได้แก่ การเล่นโยคะ การออกกำลังกายระยะสั้นแบบเข้มข้น (Crossfit) การออกกำลังกายแบบปรับสรีระและโครงสร้างของร่างกาย (Pilates) การออกกำลังกายเป็นกลุ่ม (Freestyle Group Training) ซึ่งเป็นตัวเลือกการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ที่สนุก ท้าทาย และไม่จำเจ  

ในด้านกลยุทธ์ทางการตลาด ฟิตเนสขนาดเล็กสามารถทำราคาได้สูงกว่าฟิตเนสขนาดใหญ่ การให้บริการแบบไม่จำกัดของฟิตเนสขนาดใหญ่ในเมืองเซี่ยงไฮ้จะเรียกเก็บค่าสมาชิกเป็นรายปีเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 22,000 หยวนต่อปี (110,000 บาท) ขณะที่ฟิตเนสสไตล์บูติกขนาดเล็กจะเรียกเก็บค่าสมาชิกเป็นรายเดือน โดยมีค่าใช้จ่าย อยู่ที่ 2,000 หยวนต่อเดือน (10,000บาท) หรือหากคิดเป็นปีแล้ว จะมีค่าสมาชิกสูงถึง 24,000 หยวนต่อปี (120,000 บาท) วิธีการดำเนินธุรกิจข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ฟิตเนสขนาดเล็กเล็งเห็นช่องทางและโอกาสในการทำกำไรมากกว่า โดยคำนึงถึงความต้องการและแรงจูงใจในการเลือกจ่ายเงินได้ดีกว่า ผู้รับบริการสามารถเลือกจ่ายเงินในจำนวนที่น้อยลง ซึ่งเป็นจำนวนที่ง่ายต่อการตัดสินใจ และไม่มีพันธะผูกมัดเป็นระยะยาว

ทั้งนี้ ตามการคาดการณ์ของ Euromonitor เมื่อพิจารณาถึงฐานผู้บริโภคที่ร่ำรวยของจีน และการผลักดันจากรัฐบาลแล้ว ในปี 2563 ธุรกิจด้านการออกกำลังกายของจีนจะยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีสัญญาณการชะลอตัวลง ซึ่งตรงกันข้ามกับการใช้จ่ายในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีนที่เคยเฟื่องฟู ซึ่งในขณะนี้ เริ่มมีการชะลอตัวการเติบโตลง

ส่องฟิตเนสในเมืองชิงต่าว                                                         

ในเมืองชิงต่าว มีสถานที่ออกกำลังกายประเภทฟิตเนสขนาดเล็กเกิดขึ้นจำนวนมาก และเป็นฟิตเนสที่เน้นการออกกำลังกายในรูปแบบการต่อสู้หลายแห่ง อาทิ การต่อสู้แบบผสม (Mixed martial art) เทควันโด ยูโด คาราเต้ และมวยไทย ซึ่งกิจการมวยไทยในเมืองชิงต่าว มีเจ้าของกิจการและผู้ฝึกสอนล้วนเป็นชาวจีน

ปัจจุบัน มวยไทยเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่เป็นที่นิยมในคนเฉพาะกลุ่มในเมืองชิงต่าว สำหรับฟิตเนสแฟรนไชส์ในเมืองชิงต่าว ยังไม่มีของต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปดำเนินกิจการ นอกจากนี้ หากมีการส่งเสริมให้มวยไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลดีอย่างมากต่อธุรกิจสถานออกกำลังกาย    ในรูปแบบมวยไทย เนื่องจากชาวเมืองชิงต่าวมีรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งในปี 2560 ผลผลิตอุตสาหกรรมการกีฬาในมณฑลซานตง (GDP) อยู่ที่ 234,081 พันล้านหยวน (1.170 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 77,041 พันล้านหยวน (385,205 พันล้านบาท)

ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายกีฬา

แบรนด์สินค้าด้านกีฬาในประเทศจีนกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยจีนมีการออกแบบและผลิตสินค้าเกี่ยวกับการกีฬาเองหลากหลายยี่ห้อ และด้วยพฤติกรรมของชาวจีนยุคใหม่มักจะเลือกใช้สินค้าตามกระแสนิยมทำให้มี       ความต้องการชุดกีฬาที่ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ากีฬากลายเป็นอุตสาหกรรม    แนวหน้าที่มีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอของจีนให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2559 ยอดจำหน่ายเครื่องแต่งกายกีฬามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 11 ในขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องแต่งกายโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5

นอกจากผู้ออกแบบและผลิตเครื่องแต่งกายด้านกีฬาในจีนแล้ว แบรนด์ Nike และ Adidas ยักษ์ใหญ่ในวงการเสื้อผ้ากีฬาจากต่างประเทศก็เข้ามาเป็นผู้นำในส่วนแบ่งการตลาดของแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาของจีน โดยในปี 2559 Nike     ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของส่วนแบ่งทางการตลาดในวงการเครื่องแต่งกายด้านกีฬาในจีน โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 18 และแบรนด์ Adidas ติดอันดับ 2 ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 16 โดยทั้ง 2 แบรนด์ชั้นนำของโลกถูกมองว่า เป็นสินค้าแฟชั่น     ที่เจาะกลุ่มนักกีฬาและสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าชาวจีนนั้นไม่ได้เลือกบริโภคสินค้าที่เป็นยี่ห้อของจีนเท่านั้น แต่เลือกบริโภคสินค้าตามความพึงพอใจของตน นับเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ พัฒนาสินค้าให้ถูกใจชาวจีน และสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายกีฬาของจีนได้เช่นกัน

ตลาดแอปพลิเคชันและอุปกรณ์สวมใส่ที่ช่วยให้การออกกำลังกายง่ายขึ้น

ในเดือนสิงหาคม 2560 Keep หรือแอปพลิเคชันที่เสมือนมีเทรนเนอร์ดูแลการออกกำลังที่บ้าน รายงานว่า   ในประเทศจีน มีจำนวนผู้ใช้งานถึง 100 ล้านราย โดยแบ่งเป็นผู้ใช้งานที่อาศัยอยู่ใน 5 เมืองใหญ่กว่าร้อยละ 23 

ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกวางโจว เมืองเซินเจิ้นและเมืองเฉิงตู และจำนวนกว่าร้อยละ 77 ของผู้ใช้งาน      มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างโปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเองได้ในทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนผู้ใช้งานอื่น ๆ เพื่อแบ่งปันข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกกำลังกาย รวมถึงติดตามความคืบหน้าในการออกกำลังกายได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ตามรายงานของเว็บไซต์สถิติออนไลน์ Statista ยังมีการคาดการณ์ในปี 2561ว่า แอปพลิเคชันด้านการออกกำลังกายและอุปกรณ์สวมใส่เพื่อตามอัตราการออกกำลังกาย จะสามารถสร้างรายได้มากกว่า 195,000 ล้านบาทในประเทศจีน ทั้งนี้ ในปี 2560 เครื่องติดตามการออกกำลังกายชื่อดัง Xiaomi มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกถึงร้อยละ 17 แซงหน้า Apple และ Fitbit อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายกว่าร้อยละ 95 ยังคงเป็นยอดจากผู้ซื้อจากประเทศจีน

โอกาสการลงทุนในตลาดสุขภาพและความงามของจีน

ประเทศจีน กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่โดดเด่น      ในการช่วยสร้างธุรกิจให้เติบโต ได้แก่

1. คนรุ่นใหม่ Generation Me หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523 - 2543 ซึ่งในประเทศจีน มีจำนวนประชากร คนรุ่นใหม่ถึง 415 ล้านคน พวกเขาเติบโตมาในยุคแห่งเทคโนโลยี และมักจะมีพฤติกรรมชอบความบันเทิง สนุกสนาน  รักอิสระ ชอบความท้าทาย รักสุขภาพ และมีความเป็นตัวตนสูง ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่เลือกบริโภคตามความ   พึงพอใจ โดยไม่ยึดติดต่อแบรนด์สินค้า และสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลสูงต่อพวกเขาอย่างมาก

2. คนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการในการใช้จ่ายเงิน เพื่อการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพจากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้คนจีนจำนวนมาก สามารถยกระดับฐานะขึ้นสู่ชนชั้นกลางได้อย่างรวดเร็ว โดยพวกเขามีความรู้เพิ่มมากขึ้นจากการศึกษา และการเข้าถึงสื่อ ทำให้มีพฤติกรรมหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ     มากยิ่งขึ้น และยอมจ่ายเงิน เพื่อผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ ยังถูกมองเป็นเครื่องวัดระดับฐานะของคนในปัจจุบันอีกด้วย

3. การลงทุนและการส่งเสริมของภาครัฐในด้านกีฬา เช่น การสร้างศูนย์ออกกกำลังกายสาธารณะขึ้นทั่วประเทศ   ทำให้ธุรกิจด้านการออกกำลังกายยังคงอยู่ในทิศทางที่จะสามารถเติบโตขึ้นไปได้อีกอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การสร้างความแตกต่างการลงทุนในอุตสาหกรรมและธุรกิจเพื่อสุขภาพ จะเป็นช่องทางในการดึงดูดใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจใช้จ่ายเงินได้ง่ายขึ้น เนื่องจากประชากรวัยหนุ่มสาวและชนชั้นกลางของจีน ยังคงแสวงหา การมีสุขภาพที่ดี รวมถึงต้องการมีชีวิตที่ทันสมัยและสมบูรณ์แบบ ตามแนวโน้มของโลกในยุคปัจจุบัน