มองศักยภาพเมืองชิงต่าวผ่านการประชุมสุดยอด SCO

มองศักยภาพเมืองชิงต่าวผ่านการประชุมสุดยอด SCO

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 754 view

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ  SCO ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพด้านความมั่นคงสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ มีประชากร พื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดของโลก ทำให้ทั่วโลกต้องจับตามองมาที่เมืองชิงต่าว

ชิงต่าวถูกวางเป็นเมืองแนวหน้าในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีน เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อการขนส่งทางบกและทางทะเล และเป็นส่วนสำคัญในแผนพัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จากการเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งไปยังฝั่งแปซิฟิกตะวันตก                                                                                                                      

ท่าเรือชิงต่าว เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2435 โดยเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนยุคโบราณ เป็นเส้นทางธุรกิจที่เป็นที่รู้จัก เชื่อมต่อประเทศจีนกับประเทศที่อยู่ห่างไกลเช่นอียิปต์ และประเทศในเขตเมดิเตอเรเนียน กองทัพเรือสินค้าจะแล่นข้ามน่านน้ำในจีน ผ่านมหาสมุทรอินเดีย และปล่อยสินค้าลงสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน เป็นเหตุให้ชิงต่าว มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในฐานะเมืองท่าทางทะเล

ปัจจุบัน ท่าเรือชิงต่าวเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งที่พลุกพล่านที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก ประกอบไปด้วยสี่เขตย่อย มีอุปกรณ์ครบครันสำหรับการจัดการกับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 24,000 ตู้ และรองรับตู้คอนเทนเนอร์ราว 5.2 ล้านตู้ ต่อปี เป็นจุดสำคัญบนสะพานเศรษฐกิจยูเรเชียใหม่ และเป็นศูนย์กลางของเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ ชิงต่าวยังมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งในการเชื่อมต่อทางรถไฟมุ่งหน้าสู่มองโกเลีย เอเชียกลาง และยุโรป ด้วยจำนวนสะสมของรถไฟ 4,600 ขบวน และคอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานจำนวน 610,000ตู้ บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของการขนส่งทางรถไฟ โดยปัจจุบัน สถานีรถไฟชิงต่าว เปิดเส้นทางรถไฟสายนานาชาติแล้วถึง 5เส้นทาง ได้แก่ สายชิโน-เอเชีย, สายชิโน-ยุโรป, สายชิโน-เกาหลี, สายชิโน-มองโกเลีย และสายอาเซียนเอ็กซ์เพรส

ในขณะเดียวกัน ท่าอากาศยานนานาชาติเจียวตง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานแห่งที่2 ของ ชิงต่าว คาดการณ์ว่าจะเปิดดำเนินงานในปี 2019 โดยจะเปิดให้บริการเส้นทางการบินถึง 186 เส้นทาง จะกลายเป็นประตูสู่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเขตเศรษฐกิจโป๋ไห่

การเลือกชิงต่าวซึ่งมีการพัฒนาทางด้านการขนส่ง และเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นสถานที่จัดการประชุม ย้ำให้เห็นถึงการส่งเสริมแผนพัฒนา "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21

ของจีน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้แก่จีนในการเปิดตลาดโลกให้กว้างมากขึ้น และเพื่อดึงดูดการลงทุน ภายหลังการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การของปากีสถาน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในโลกในไตรมาส 4 ของปี 2017 นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นโอกาสในการเร่งผลักดันโครงการต่างๆ ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไป

 

 

****************************

 

จัดทำโดย: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว