วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
มหานครภาพยนตร์ตะวันออก (Oriental Movie Metropolis) เมืองชิงต่าว เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2561 เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศเป็นฮอลลีวูดของจีน
มหานครภาพยนตร์ตะวันออก (Oriental Movie Metropolis) ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ อ่าวหลิงซาน ทางชายฝั่งตะวันตกของเมืองชิงต่าว ซึ่งเป็นสตูดิโอในการผลิตภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีโรงงานที่ใหญ่และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยได้รับการสนับสนุนหลักจากนายหวัง เจี้ยนหลิน มหาเศรษฐีจีน ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทต้าเหลียน ว่านต๋า กรุ๊ป ซึ่งนายหวังฯ ได้กล่าวว่า “มุ่งหวังที่จะสร้างมหานครภาพยนตร์เพื่อให้เป็น “ศูนย์รวมภาพยนตร์แห่งใหม่ของโลก””
เมื่อไม่นานมานี้ องค์การยูเนสโกประกาศให้เมืองชิงต่าวเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ อันดับที่ 9 ของโลก โดยได้ชื่อว่า "City of film" ที่มีชื่อเสียงในด้านการสร้างภาพยนตร์แห่งแรกของประเทศจีน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ของประเทศ ก่อนหน้านี้ องค์การยูเนสโกประกาศเลือก 8 เมืองให้เป็น "City of film" ได้แก่ 1) แบรดฟอร์ดจากสหราชอาณาจักร 2) ซิดนีย์จากออสเตรเลีย 3) ปูซานจากเกาหลีใต้ 4) กัลเวย์จากไอร์แลนด์ 5) โซเฟียจากสาธารณรัฐบัลแกเรีย 6) บิโตลาจากสาธารณรัฐมาซิโดเนีย 7) โรมจากอิตาลี 8) ซังตูสจากบราซิล
มหานครภาพยนตร์ตะวันออก ก่อสร้างด้วยเงินทุน 5 หมื่นล้านหยวน (2.5 แสนล้านบาท) สามารถสร้างเสร็จภายในเวลา 4 ปี 7 เดือน โดยได้รวมเอาการผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ครอบคลุมพื้นที่ 1,037.5 ไร่ อาทิ ห้องสตูดิโอระดับโลก 40 แห่ง โดยสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว 30 แห่ง และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 10 แห่ง รวมทั้งห้องสตูดิโอที่ใหญ่ที่สุดในโลกขนาด 10,000 ตารางเมตร สตูดิโอ ใต้น้ำแห่งเดียวในโลก ซึ่งเป็นสตูดิโอกลางแจ้งและภายในอาคารที่เชื่อมต่อกัน โรงงานผลิตอุปกรณ์เสื้อผ้าถ่ายทำ และโรงงานผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ ทั้งหมดนี้ได้รับการออกแบบเฉพาะสำหรับการผลิตภาพยนตร์นานาชาติคุณภาพสูง นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์นิทรรศการ สวนสนุก ศูนย์การแสดงและความบันเทิง รวมถึงโรงแรม การแพทย์ การศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีกด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านหยวน (5 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ ภายนอกของสวนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ มีพื้นที่ 375 ไร่ ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรป และถนนทางเดินตกแต่งด้วยเสน่ห์เก่าแก่ของนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะตอบสนองความต้องการในการถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทต่าง ๆ และสร้างสรรค์ผลงานทางโทรทัศน์ได้อย่างเหมาะสม
ปัจจุบัน สวนอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้รวบรวมบริษัทภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงกว่า 100 บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งบริษัท Wanda Cinemas และบริษัท Wuzhou Film ทั้งยังมีบริษัทภาพยนตร์และโทรทัศน์หน้าใหม่อีก 65 ราย และกำลังถ่ายทำภาพยนตร์กว่า 20 เรื่อง โดยมีนักแสดงนับหมื่นคน
ก่อนการเปิดตัว มหานครภาพยนตร์ตะวันออก ได้ดึงดูดภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าไปถ่ายทำ ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง Great wall และ Pacific Rim 2 ในปี พ.ศ. 2560 งานประชุมสุดยอดภาพยนตร์ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา มหานครภาพยนตร์ตะวันออก ได้เซ็นสัญญากับบริษัทภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียง 9 บริษัท และภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 11 เรื่องจากฮอลลีวูดก็ได้ถ่ายทำในพื้นที่ดังกล่าว
ในฐานะที่ประเทศจีนเป็นตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จะเห็นได้ว่าจากการจัดตั้งมหานครภาพยนตร์ในเมืองชิงต่าว จะเป็นอีกช่องทางที่จะส่งเสริมให้ภาพยนตร์จีนก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลก ทั้งยังเป็นกลไกหลักในการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วประเทศ หากพิจารณารายได้จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปี 2560 สำนักงานจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ในประเทศจีน (CBO) มียอดจำหน่ายรวมกว่า 5.59 หมื่นล้านหยวน ซึ่งเป็นการทำลายสถิติทะลุ 5 หมื่นล้านหยวน (2.5 แสนล้านบาท) เป็นครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 สถิติยอดจำหน่ายบัตรรายวันและรายเดือนมีอัตราสูงขึ้น ส่งผลรายได้จากการจำหน่ายบัตรมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านหยวน (5 หมื่นล้านบาท)
*******************************
เหตุผลที่เมืองชิงต่าว ได้รับเลือกให้เป็น "City of film"
1. มีโรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน
การถ่ายทำภาพยนตร์และโทรทัศน์ของเมืองชิงต่าวครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปีพ. ศ. 2441 โดยนักถ่ายทำภาพยนตร์ชาวเยอรมันเดินทางมายังเมืองชิงต่าว เพื่อถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ธรรมชาติและชีวิตของผู้คน ซึ่งกลายเป็นสารคดีเรื่องแรกที่ถ่ายทำในประเทศจีน
ในปีพ. ศ. 2442 โรงแรม Hengri Prince (ปัจจุบันคือโรงแรม Zhanqiao Prince) ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล เมืองชิงต่าว ภายในห้องแสดงดนตรีของโรงแรมสามารถจัดแสดงภาพยนตร์ได้ จึงทำให้กลายเป็น 1 ใน โรงภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน
ในปีพ. ศ. 2474 ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Zhang Shichuan จากเซี่ยงไฮ้และหุ้นส่วน ร่วมกันสร้างโรงภาพยนตร์แห่งแรก ที่มีชื่อว่า “ซานตงเธียเตอร์” ซึ่งเปิดดำเนินการโดยชาวจีนในถนนจงซาน
2. มีสวนสตูดิโอธรรมชาติ
เมืองชิงต่าว ได้ชื่อว่า “สวนสตูดิโอธรรมชาติ” มีทิวทัศน์อันสวยงาม มีการถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคแรก ๆจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละปีจะมีทีมงานกว่า 200 กลุ่มเดินทางมายังเมืองชิงต่าว เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์
ชิงต่าว ยังเป็นบ้านเกิดของดาราที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Tang Guoqiang/Ni Ping/Huang Xiaoming/ Huang/Wei Fan Bingbing และ Chen Hao
3. มีสวนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจุบัน ชิงต่าว เป็นที่ตั้งของ Oriental Movie Metropolis ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสตูดิโอ 40 แห่ง ศูนย์ผลิตผลงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ ศูนย์วิจัยและพัฒนา IMAX ทั่วโลก พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นฐานภาพยนตร์และโทรทัศน์ขนาดใหญ่ โดยได้ดึงดูดบริษัทสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์และโทรทัศน์กว่า 50 บริษัท อาทิ บริษัทการถ่ายทำ การผลิตภาพ การจัดนิทรรศการ และการท่องเที่ยว เป็นต้น
หลังจากการเปิดตัวเมื่อวันที่ 28 เมษายน คาดว่า ในแต่ละปี Oriental Movie Metropolis จะสามารถผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ 30 เรื่อง ภาพยนตร์และโทรทัศน์ในประเทศกว่า 100 เรื่อง
4. มีนโยบายการอุดหนุนการผลิตภาพยนตร์
ชิงต่าวมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยได้จัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่า 5 พันล้านหยวน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว แบ่งเป็นระยะเวลา 5 ปี ปีละ 1 พันล้านหยวนต่อปี หากภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำใน Oriental Movie Metropolis มีผลงานยอดเยี่ยมหรือมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด จะได้รับเงินสนับสนุนจำนวนสูงสุด 40% ของต้นทุนในการผลิต
5. มีหน่วยงานผลิตภาพยนตร์ 79 แห่ง
เมืองชิงต่าว มีหน่วยงานผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและดำเนินการรายการวิทยุและโทรทัศน์) เพิ่มขึ้นเป็น 79 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์รายใหม่ 32 แห่ง และคาดว่าสามารถผลิตภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 11 เรื่อง ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน มีภาพยนตร์ที่เข้าไปถ่ายทำในเมืองชิงต่าวเป็นประจำทุกปีกว่า 200 เรื่อง มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของภาพยนตร์ทั้งหมดในประเทศจีน โดยในปีพ. ศ. 2560 สำนักงานจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ในประเทศจีน (CBO) สามารถทำลายสถิติรายได้จากการจำหน่ายบัตรที่มีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านหยวนเป็นครั้งแรก และ ล่าสุดใน เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีรายได้จากการจำหน่ายบัตรกว่า 1 หมื่นล้านหยวน
6. มีมหาวิทยาลัยภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงพร้อมผลิต "ดาราหน้าใหม่ในอนาคต"
เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 มีการวางแผนจัดตั้งวิทยาเขตเพิ่มเติมของสถาบัน Shanghai Theater Academy ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจจี๋โม่ของเมืองชิงต่าว ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการเจรจากับมหาวิทยาลัยดนตรีชั้นนำอื่น ๆ อาทิ Central Conservatory of Music และ Warsaw National Conservatory of Music
นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งสถาบันชื่อดังในเมืองชิงต่าว อาทิ Cultural and Creative Industries Research Institute ของมหาวิทยาลัยชิงหวา และ Qingdao Creative Media Academyของ Beijing Film Academy ซึ่งในอนาคต จะสามารถผลิตบุคลากรชั้นนำ รวมถึงส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือในสาขาวิชาดังกล่าวได้อีกด้วย
********************************
Working hours: Monday - Friday 09.00 - 12.00 and 13.00 - 17.00
WeChat Official Account: RTCG-Qingdao