รถไฟนานาชาติจีน-ยุโรป(ชิงต่าว-มินสค์) เปิดให้บริการแล้ว

รถไฟนานาชาติจีน-ยุโรป(ชิงต่าว-มินสค์) เปิดให้บริการแล้ว

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 901 view

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 รถไฟนานาชาติสายชิงต่าว-มินสค์ ได้ขับเคลื่อนออกจากศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของเขตนำร่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน และประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือ เซี่ยงไฮ้ (SCO) ณ เมืองเจียวโจว เมืองรองของเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง มุ่งหน้าไปยังเมืองมินสค์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐเบลารุส ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 22 วัน โดยรถไฟขบวนนี้ได้ขนส่งสินค้าประเภทชิ้นส่วนเครื่องยนต์ และแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านหยวน นับเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสายที่ 6 ในชิงต่าว ซึ่งก่อนหน้านี้การขนส่งสินค้าทางทะเลใช้เวลาประมาณ 55 วัน การก่อสร้างรถไฟนานาชาติจะช่วยประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพในการหมุนเวียนสินค้าทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมณฑลซานตง ทั้งนี้ เมืองมินสค์มีนิคมอุตสาหกรรมจีน-เบลารุสและมีผู้ประกอบการชาวมณฑลซานตงอยู่มาก ซึ่งมีความต้องการด้านโลจิสติกส์  

ภายหลังที่ศุลกากรเจียวโจวได้รับความเห็นชอบจัดตั้ง เมืองเจียวโจวได้ร่วมมือกับบริษัท Shandong Jitie Jiaozhou Logistics Park บริษัท China United International Rail Containers Co., Ltd. (สถานีศูนย์ชิงต่าว) ท่าเรือชิงต่าว และบริษัท China Railway International Multimodal Transport Co., Ltd. จัดตั้งศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของเขตนำร่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน และประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)

ทั้งนี้ สถานีศูนย์ชิงต่าว เป็นหนึ่งใน 18 สถานีขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ก่อตั้งโดยบริษัทการรถไฟแห่งชาติจีน (China Railway) โดยเชื่อมต่อกับสถานีขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์กว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เขตพื้นที่และประเทศต่าง ๆ กว่า 200 แห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นช่องทางรวมการขนส่งทางการค้าระหว่างประเทศหลายรูปแบบ ได้แก่ เอเชียกลาง-ยุโรป เอเชียใต้–อาเซียน ญี่ปุ่นเกาหลีใต้-เอเชียแปซิฟิก ก้าวสู่การเป็นประตูส่งออกสินค้าสู่ตลาดญี่ปุ่นเกาหลีใต้และเอเชียแปซิฟิกของประเทศในแถบเอเชียกลางและประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งก่อนหน้านี้สถานีศูนย์ชิงต่าวได้เปิดเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางจีน-เอเชียกลาง จีน–เกาหลีใต้ จีน-มองโกเลีย จีน-ยุโรปกลางและรถไฟสายอาเซียนพร้อมด้วยเส้นทางรถไฟจากเจียวโจวไปยัง 7 เมือง ได้แก่ อุรุมชี ซีอาน เจิ้งโจว ลั่วหยาง เฉิงตู  ตำบลซีต้าทานเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย          เมืองคอร์ลาเขตปกครองตนเองซินเจียง และเส้นทางขนส่งทางรางระยะสั้นที่เชื่อมต่อจากทางเรือสายเจียวโจว-หวงต่าว

ในปี 2561 ศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของเขตนำร่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ได้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปแล้วทั้งสิ้น 536,000 ตู้ ปริมาณการจัดส่งตู้คอนเทนเนอร์ของรถไฟนานาชาติจีน-ยุโรปจากเจียวโจว คิดเป็นร้อยละ 81 ของมณฑล และในไตรมาสแรกของปี 2562 นี้ ศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของเขตนำร่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ได้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปกว่า 136,000 ตู้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว      คาดว่า ในปีนี้จะมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ถึง 650,000 ตู้ นอกจากนี้ มณฑลซานตงเตรียมเปิดช่องทางการขนส่งที่สอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road เพื่อเสริมสร้างจุดแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการค้า เพิ่มศักยภาพให้กับรถไฟนานาชาติจีน-ยุโรป และในปี 2562 ตั้งเป้าให้มีการเดินรถไป-กลับ 500 เที่ยว

เห็นได้ว่า การก่อสร้างเส้นทางการขนส่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในเรื่องการขนส่ง เพิ่มพูนศักยภาพในการส่งสินค้าไปจำหน่ายในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ไม่จำเป็นต้องกักตุนสินค้า สินค้าที่จำหน่ายจึงมีความใหม่และสดมากขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยให้ตลาดสินค้าขยายขอบเขตออกไปได้กว้างขวางกว่าเดิมด้วย

 

***************************************************************************

 

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เมืองชิงต่าว