ไอเดียลดความเสี่ยงทางการเงิน “ทุเรียนไทย” แลก “กระเทียมจีน” วิธีการนี้คุ้มหรือเสีย?

ไอเดียลดความเสี่ยงทางการเงิน “ทุเรียนไทย” แลก “กระเทียมจีน” วิธีการนี้คุ้มหรือเสีย?

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ค. 2566

| 868 view

ทุเรียนไทยกระเทียม

ทุเรียนไทย แลก กระเทียมจีนคุ้มไหม?

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท SHEENTHALIA บริษัทผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ตั้งอยู่ที่อำเภอจินเซียง เมืองจี่หนิง มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากประเทศไทยประมาณ 75 ตัน และกระจายสินค้าเพื่อจำหน่ายในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศจีน ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนทุเรียนเหล่านี้ก็สามารถจำหน่ายได้จนหมดเกลี้ยง นอกจากนี้ยังปรากฏข้อมูลว่า บริษัทฯ ดังกล่าวและวิสาหกิจผู้จัดจำหน่ายทุเรียนไทยในล็อตนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน ระหว่าง ทุเรียนไทย และ กระเทียมจินเซียง เนื่องจากอำเภอจินเซียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทฯ ดังกล่าว เป็นแหล่งผลิตกระเทียมชั้นดีที่มีประวัติการปลูกมามากกว่า 2,000 ปี และมีปริมาณการส่งออกกระเทียมอยู่ในอันดับต้น ๆ ของจีน และทุเรียนไทย ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนและทั่วโลก การแลกเปลี่ยนสินค้าในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนของดีประจำถิ่นของทั้งสองฝ่าย นอกจากเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีประจำถิ่นของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ จากข้อมูลยังปรากฏว่า การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทการค้าต่างประเทศในท้องถิ่นมี “การแลกเปลี่ยนสินค้า”

23c29eab080b42bcac75ffd7fa9b321e

การแลกเปลี่ยนที่เกิดจากความบังเอิญ ….
ที่มาของแนวคิดการแลกเปลี่ยนนี้ เกิดจากในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเก็บเกี่ยวทุเรียนในภาคตะวันออกของไทย ในระหว่างดำเนินการสั่งซื้อทุเรียนจากประเทศไทย บริษัทฯ ได้ทราบข้อมูลว่า วิสาหกิจคู่ค้าผู้จำหน่ายทุเรียนไทย มีความต้องการกระเทียม ขณะนั้น ทุเรียนแช่แข็งมีราคาประมาณ 70,000 หยวน/ตัน และกระเทียมมีราคาประมาณ 10,000 หยวน/ตัน มีอัตราส่วนกระเทียมประมาณ 7 ตันต่อเนื้อทุเรียนแช่แข็ง 1 ตัน การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ใช้กระเทียมประมาณ 500 ตันต่อเนื้อทุเรียนแช่แข็ง 75 ตัน ความบังเอิญนี้นับว่าเป็นจังหวะของความบังเอิญที่ดี แต่ความบังเอิญเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ

นายจู เว่ยตง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ กล่าวว่า บริษัทฯ จะพยายามติดต่อกับผู้ประกอบการชาวไทยให้มากขึ้น พยายามอย่างเต็มที่ในการขยายอุปสงค์สินค้าเกษตรในท้องถิ่นของอำเภอจินเซียง อาทิ พริกและกระเทียม รวมถึงการขยายช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน แม้ว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าในครั้งแรกจะมีปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็นับเป็นการเปิดทิศทางใหม่ของการค้าระหว่างประเทศ

สรุปแล้ววิธีนี้คุ้มหรือเสีย?
ที่ผ่านมา หากต้องการซื้อทุเรียน 75 ตัน จำเป็นต้องใช้เงินกู้มากกว่า 6 ล้านหยวน (ประมาณ 30 ล้านบาท) ในการชำระเงิน แต่การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ไม่ต้องใช้เงินสกุลเดียวกันในการแลกเปลี่ยน จึงกล่าวได้ว่า การแลกเปลี่ยนสินค้าในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนที่ปราศจากความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยสกุลเงินมักจะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน ในขณะเดียวกัน ยังช่วยลดขั้นตอนจากกระบวนการกู้ยืมเงิน และยังช่วยอำนวยความสะดวกในการหมุนเวียนเงินทุนอีกด้วย อย่างไรก็ดี การแลกเปลี่ยนสินค้ายังต้องคำนึงถึงอุปสงค์และอุปทานของสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายต้องการแลกเปลี่ยนด้วย

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจใช้วิธีนี้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนการซื้อขายสินค้าที่อาจเกิดความเสี่ยงทางการเงินที่จะตามมา สามารถศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของตนได้ อย่างไรก็ดี ก่อนดำเนินการผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทคู่ค้าเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการ คุณภาพของสินค้าที่ได้รับ และปัจจัยอื่น ๆ กล่าวคือ ยังต้องมีการศึกษาถึงจุดคุ้มของแต่ละผู้ประกอบการต่อไป

แหล่งที่มา:
https://sd.dzwww.com/sdnews/202307/t20230705_12275227.htm