เมืองชิงต่าวผลักดันความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน โดยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางบกและทางทะเล วันที่ 23 กรกฎาคม 2567‎

เมืองชิงต่าวผลักดันความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน โดยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งทางบกและทางทะเล วันที่ 23 กรกฎาคม 2567‎

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ก.ค. 2567

| 161 view

           เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ได้มีการประชุมสัมมนาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-อาเซียน (ชิงต่าว) ปี 2567 ที่โรงแรม Haitian เมืองชิงต่าว ภายใต้หัวข้อ "ผลักดันเศรษฐกิจทั้งทางบกและทางทะเลในจุดเริ่มต้นใหม่" โดยมีศูนย์อาเซียน-จีน (ASEAN-China Centre) กรุงปักกิ่ง และรัฐบาลเมืองชิงต่าวเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้ว่าการมณฑลซานตง ผู้บริหารระดับสูงของมณฑลซานตง ผู้บริหารระดับสูงของเมืองชิงต่าว ประธานศูนย์อาเซียน-จีน และนักการทูตประเทศอาเซียนที่ประจำการในจีนเข้าร่วมประชุม สำหรับในส่วนของฝ่ายไทยมีผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ กรุงปักกิ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน กรุงปักกิ่ง สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว และ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองชิงต่าว เข้าร่วม

           การประชุมฯ ประกอบด้วย 3 วาระหลัก ได้แก่ การประชาสัมพันธ์โอกาสการลงทุนและการค้าในแต่ละประเทศ การแลกเปลี่ยนทางประชาชนและวัฒนธรรม และการสำรวจโครงการสำคัญในเมืองชิงต่าว โดยในส่วนของฝ่ายไทย สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงปักกิ่ง ได้ขึ้นเวทีแนะนำนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในไทยต่อผู้แทนจากทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนและเมืองชิงต่าว

           จากข้อมูลที่ทางการจีนเปิดเผย หลายปีที่ผ่านมา เมืองชิงต่าวมีความใกล้ชิดกับประเทศในอาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มประเทศอาเซียนกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดและจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญที่สุดของเมืองชิงต่าว ปี 2566 มูลค่าการค้าระหว่างเมืองชิงต่าวและกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 170,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เทียบกับปีก่อน โครงการลงทุนระหว่างสองฝ่ายถึง 1,340 โครงการ มูลค่าการลงทุนมากกว่า 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมืองชิงต่าวยังได้จับมือกับเมืองมิตรภาพกับทั้งหมด 7 เมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน ร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองชิงต่าวและกลุ่มประเทศอาเซียนในหลากหลายมิติ

           สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว เห็นว่า ชิงต่าวเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งโดยเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้แก่ บริษัท Haier และ บริษัท Hisense ซึ่งมีการลงทุนในประเทศไทยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลสูง ในการนี้ จึงได้ผลักดันความร่วมมือกับภาคเอกชนท้องถิ่นและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจทางทะเล เพื่อแสวงหาโอกาสช่องทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ