10 เดือนแรก ปี 2565 ปริมาณการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านท่าเรือชิงต่าวส่อแววไปได้สวย

10 เดือนแรก ปี 2565 ปริมาณการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านท่าเรือชิงต่าวส่อแววไปได้สวย

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ธ.ค. 2565

| 771 view

Untitled-2

ผลไม้สดไทยผ่านด่านศุลกากรชิงต่าวในครึ่งชั่วโมง
“วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มีการนำเข้าผลไม้ไทย ได้แก่ ลำไยและมะพร้าว จำนวน 5.5 ตัน ผ่านทางท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติของท่าเรือชิงต่าว Shandong Port Group หลังจากผ่านพิธีการทางศุลกากรเพียงครึ่งชั่วโมง ผลไม้เหล่านี้ถูกกระจายไปสู่ตลาดจำหน่ายผลไม้ทั่วมณฑลและเมืองใกล้เคียง ทำให้ผลไม้เหล่านี้ยังคงคุณภาพและความสดตามเอกลักษณ์ของผลไม้ไทย”

ยื่นและรับผลตรวจสอบออนไลน์ พร้อมเปิดช่องทางสีเขียว
ศุลกากรชิงต่าวได้ยกระดับกระบวนการทํางานอย่างต่อเนื่อง รูปแบบ “การตรวจสอบแบบไม่ต้องพบหน้า” ซึ่งผู้นำเข้าและตัวแทนนำเข้าไม่จำเป็นต้องมาแสดงตัวเพื่อมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ สามารถรอผลผ่านทางระบบออนไลน์เท่านั้น สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินการตรวจสอบและการใช้ประโยชน์ของสถานที่ตรวจสอบ ในขณะเดียวกันศุลกากรฯ ได้เปิด “ช่องทางสีเขียว” สําหรับการนําเข้าสินค้าเกษตรสด เพื่อให้สามารถตรวจสอบและปล่อยผลไม้นำเข้าได้ทันที ผลไม้สดที่นำเข้าจะยังคงความสดเมื่อถึงมือผู้บริโภค ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาศุลกากรชิงต่าวได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและการปรับปรุงคุณภาพการค้าระหว่างประเทศ และมีมาตรการอำนวยความสะดวกหลายประการ อาทิ การใช้เครื่องตรวจสอบก่อนและการรับสินค้าโดยตรงที่ข้างเรือการยื่นเอกสารเพื่อทำพิธีการทางศุลกากรล่วงหน้าและการตรวจสอบแบบสองขั้นตอน[1] และมาตรการอื่น ๆ เพื่อให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของท่าเรือดียิ่งขึ้น และปล่อยสินค้าเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วด้วยการกำกับดูแลที่เข้มข้น

การใช้เครื่องตรวจสอบก่อนและการรับสินค้าโดยตรงที่ข้างเรือ
การใช้เครื่องตรวจสอบก่อนและการรับสินค้าโดยตรงที่ข้างเรือ กระบวนการนี้ หมายถึง ตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้าที่ จะได้รับการตรวจสอบจากเครื่องตรวจเมื่อขนสินค้าจากเรือ ด้วยความช่วยเหลือของระบบ “การตรวจสอบภาพอัจฉริยะ” ออนไลน์แบบเรียลไทม์ ศุลกากรฯ จะดำเนินการตัดสินและระบุความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว ตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบจากเครื่องตรวจสอบนี้จะได้รับการปล่อยทันที และสามารถเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากท่าเทียบเรือได้โดยตรง ซึ่งสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมในการลากจูงได้เกือบ 300 หยวน (ประมาณ 1,500 บาท) และที่สำคัญสามารถลดเวลาในการจัดส่งได้ถึง 35% ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการเก็บรักษาความสดและความอร่อยของผลไม้

ท่าเรือชิงต่าว Shandong Port Group เป็นท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เย็นที่ใหญ่ที่สุดในจีน
ท่าเรือชิงต่าว Shandong Port Group เป็นท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เย็นที่ใหญ่ที่สุดในจีน ผลไม้สดส่วนใหญ่มีการนำเข้ามาจากประเทศสมาชิก RCEP อาทิ ไทย อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ข้อมูลสถิติของศุลกากรชิงต่าว ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ด่านชิงต่าวนําเข้าผลไม้จากประเทศไทยมีปริมาณ 23,400 ตัน เติบโตขึ้น 41.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ศุลกากรชิงต่าวมีบทบาทในการช่วยท่าเรือปรับใช้เส้นทางเดินเรือที่ได้เปรียบ โดยใช้เส้นทางที่เชื่อมโยงประเทศตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และประเทศสมาชิกของ RCEP ซึ่งมีเที่ยวเรือสัปดาห์ละ 13 เที่ยว ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ ประเทศไทย ผลไม้คุณภาพสูงที่นำเข้าจากไทยใช้ระยะเวลาเพียง 7 วัน ในการเดินทางมาถึงท่าเรือชิงต่าว มณฑลซานตง นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามความตกลง RCEP ศุลกากรฯ จึงมีการปรับเปลี่ยนลดความซับซ้อนของพิธีการทางศุลกากร รวมถึงการปล่อยสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า อนึ่ง ศุลกากรชิงต่าวเป็นผู้นำในการออกประกาศ 25 มาตรการ เพื่อให้มณฑลซานตงคว้าโอกาสของ RCEP และปฏิบัติตามข้อกำหนด RCEP ในการปล่อยสินค้าไม่เกิน 6 ชั่วโมง สำหรับสินค้าเน่าเสียง่ายที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสมาชิก RCEP เมื่อมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว (ไม่รวมสินค้าและสิ่งของที่ศุลกากรจำเป็นต้องตรวจสอบ และดำเนินการขั้นตอนอื่น ๆ )

ข้อมูลจากผู้นำเข้ารายใหญ่
ปัจจุบัน บริษัท ศูนย์ค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศตงฟางติ่งซิ่น เมืองชิงต่าว ผู้นำเข้าทุเรียนจากไทยประมาณปีละ 100,000 ตัน จากที่ทั่วประเทศจีนนำเข้าจากไทยประมาณปีละ 660,000 ตัน รวมถึงผลไม้ชนิดอื่น ๆ ซึ่ง เป็นตลาดนำเข้าผลไม้ระดับมืออาชีพที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลซานตง บริษัทฯ มีการผสมผสานการรวบรวมและกระจายสินค้าจำนวนมาก การประมวลผลแบบเข้มข้น คลังสินค้าและโลจิสติกส์อัจฉริยะ รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สำหรับผลไม้ที่ไม่เหมาะสำหรับการตรวจสอบที่ท่าเรือโดยใช้วิธีการยื่นเอกสารเพื่อ “ทำพิธีการทางศุลกากรล่วงหน้าและการตรวจสอบแบบสองขั้นตอน” ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกผลไม้นำเข้าสามารถขนถ่ายไปยังคลังสินค้าของศูนย์กระจายสินค้าตงฟางติ่งซิ่นก่อน แล้วจึงนัดหมายกับศุลกากรฯ เพื่อตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า

ภายใต้มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ กระบวนการทั้งหมด อาทิ การขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ การขนส่งในท่าเรือ การตรวจสอบศุลกากร และการปล่อยสินค้า สามารถดำเนินการและรับข้อมูลผ่านทางระบบออนไลน์ได้ องค์กรต่าง ๆ สามารถตรวจสอบตำแหน่งและสถานการณ์ปล่อยสินค้าได้ตลอดเวลาผ่านแอปพลิเคชันและ Computer terminal นอกจากนี้ยังสามารถชำระเงินออนไลน์และยกตู้คอนเทนเนอร์ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและแรงงานมากขึ้น

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว เห็นว่า มณฑลซานตงน่าจะเป็นจุดกระจายสินค้าไทยในภาคเหนือของจีน
สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ตระหนักถึงศักยภาพของท่าเรือชิงต่าวและฐานะทางเศรษฐกิจของมณฑลซานตง จึงมีดำริในเรื่องของการผลักดันการนำเข้าผลไม้ไทย และที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ร่วมกับซานตงพอร์ตกรุป (Shandong Port Group - SPG) จัดการประชุมออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับเส้นทางเดินเรือใหม่ ระหว่างเมืองชิงต่าวถึงแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ พร้อมทั้งให้ข้อมูลการบริการการนำเข้าครบวงจร อาทิ สามารถนำของขึ้นจากเรือได้ทันที รวมทั้ง มาตรการตรวจปล่อยสินค้าเน่าเสียง่ายของศุลกากร ด่านหวงต่าว เมืองชิงต่าว ซึ่งเป็นแบบสุ่มตรวจ เพื่อเป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทย BIC ชิงต่าว มองว่า ปริมาณการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านท่าเรือชิงต่าวที่เติบโตขึ้นในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2565 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมีผลมาจากผู้ประกอบการชาวไทยได้ทราบข้อมูลในการขนส่งสินค้ามายังมณฑลซานตงมากขึ้น ซึ่งมาจากการประชาสัมพันธ์ของสถานกงสุลใหญ่ฯ และช่องทางอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปริมาณการนำเข้าผลไม้ไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 เดือนแรก ปี 2565 นี้ คงทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยอมยิ้มไปตามกัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทยและผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งรายที่เคยและยังไม่เคยจัดส่งสินค้ามายังพื้นที่มณฑลซานตงมีความสนใจและเล็งเห็นช่องทางในการส่งออกสินค้าไทยมายังจีน ในพื้นที่มณฑลซานตงเพิ่มมากขึ้น

[1]   การตรวจสอบแบบสองขั้นตอน ได้แก่ (1) ขั้นตอนการตรวจสอบเพื่ออนุญาตให้สินค้าเข้าประเทศจีน (2) ขั้นตอนการตรวจสอบเพื่ออนุญาตให้สินค้าสามารถใช้หรือวางจำหน่ายในตลาดได้

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว

แหล่งที่มา:
https://sd.dzwww.com/sdnews/202211/t20221117_11072147.htm