วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ค. 2568
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ก.ค. 2568
ภาพเรือชิงเตี้ยนทัว จากสำนักข่าวป้านต่าว
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ท่าเรือชิงต่าว มณฑลซานตง เฉลิมฉลองการเปิดตัว "ชิงเตี้ยนทัว 1 (山东氢电拖1)" เรือพลังงานลูกผสมระบบไฮโดรเจน-แบตเตอรี่ลิเทียม ที่ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในประเทศจีน
เรือลำนี้ติดตั้งระบบ "เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน + แบตเตอรี่ลิเทียมระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว" ที่สามารถรองรับการเดินเรือต่อเนื่องกว่า 12 ชั่วโมง ด้วยความเร็วประจำ 9 นอต พร้อมแรงลากจูงสูงถึง 82 ตัน และยังได้รับตราสัญลักษณ์ AUT-0 (ระบบชาร์จอัจฉริยะอัตโนมัติ) จากหน่วยงานกำกับดูแลข้อมูลจากสำนักงานรัฐบาลจีนระบุว่า การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Carbon Emission) ขณะใช้งาน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,500 ตันต่อปีเมื่อเทียบกับเรือแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังลดมลภาวะทางเสียง มีประสิทธิภาพทางด้านเครื่องยนต์ และอายุการใช้งานที่สูงขึ้น ซึ่งเหนือกว่าเรือขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงทั่วไปอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ เรือยังติดตั้งระบบนำทางด้วย "ดาวเทียมเป่ยโต่ว(北斗卫星)" และระบบชาร์จพลังงานริมฝั่ง อัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วยให้สามารถปฏิบัติงานต่อเนื่องโดยไม่สะดุด
นโยบายเชิงยุทธศาสตร์: ผลักดันภาคการขนส่งเพื่อความยั่งยืน
การเปิดตัว "ชิงเตี้ยนทัว 1" ถือเป็นความพยายามของจีนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย "โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว" โดยเฉพาะในท่าเรือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำระดับโลก ท่าเรือชิงต่าวได้เริ่มนำร่องทดสอบรถรอกไฮโดรเจนจำนวน 10 คัน พร้อมทั้งติดตั้งระบบผลิตพลังงานร่วม (heat-power cogeneration) ขนาด 300 กิโลวัตต์ เพื่อส่งเสริมโครงข่ายพลังงานไฮโดรเจนครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณท่าเรือล่าสุด ท่าเรือยังประสบความสำเร็จในการให้บริการเสริมไบโอดีเซลแก่เรือที่เข้าเทียบท่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนารูปแบบแหล่งพลังงานที่หลากหลายเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
เปรียบเทียบกับ "ชิงกั่งทัว 1" เรือระบบไฮบริด (2565)
จีนเคยเปิดตัวเรือไฮบริดชื่อ "ชิงกั่งทัว 1(青港拖1)" เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นระบบไฮบริดแบบน้ำมัน–ไฟฟ้า ตัวเรือมีความยาว 39 เมตร และมีกำลังขับเคลื่อน 5,200 แรงม้า ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมขนาด 2,760 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 4.5 ชั่วโมง โดยสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700 ตันต่อปี และช่วยประหยัดน้ำมันได้ถึง 227 ตันต่อปี
เมื่อเปรียบเทียบกับ "ชิงเตี้ยนทัว 1" ซึ่งเป็นระบบไฮโดรเจนเต็มรูปแบบ จะเห็นได้ว่า มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นเป็น 12 ชั่วโมงจากเดิม 4.5 ชั่วโมง สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1,500 ตันต่อปี และไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาครั้งสำคัญของพลังงานสะอาดในภาคท่าเรืออย่างแท้จริง
บทสรุปท่าเรือสีเขียว
การเปิดตัว "ชิงเตี้ยนทัว 1" แสดงให้เห็นว่าจีนเดินหน้าผลักดันภาคการขนส่งทางน้ำให้เป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon-neutral) อย่างจริงจัง จากโมเดลแรก "น้ำมัน–ไฟฟ้า" มาสู่ "ไฮโดรเจน–ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ" ถือเป็นเทคโนโลยีที่ปูทางสู่ยุคของพลังงานสีเขียวในภาคท่าเรือ ซึ่งไม่เพียงเปลี่ยนรูปแบบการเดินเรือแบบเดิม แต่ยังเป็นสัญญาณชัดเจนว่าจีนตั้งใจจะเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดของโลกในอนาคต
หมายเหตุ: จากการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ในเบื้องต้น ยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของห้องวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว
อ้างอิง
26 ก.ย. 2567
Working hours: Monday - Friday 09.00 - 12.00 and 13.00 - 17.00
WeChat Official Account: RTCG-Qingdao