ชิงต่าวจ้าวแห่งวงการนวัตกรรมการผลิตรถไฟ ล่าสุดปล่อย “รถไฟความเร็วสูง EMU ” ออกจากสายการผลิต พร้อมส่งสู่อินโดนีเซีย

ชิงต่าวจ้าวแห่งวงการนวัตกรรมการผลิตรถไฟ ล่าสุดปล่อย “รถไฟความเร็วสูง EMU ” ออกจากสายการผลิต พร้อมส่งสู่อินโดนีเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 พ.ย. 2565

| 941 view

เมืองชิงต่าว (青岛) เมืองที่หลาย ๆ ท่านอาจรู้จักผ่านผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของเมืองนี้ นั่นก็คือ “เบียร์ชิงต่าว (TSINGTAO)” หรือหลายท่านอาจรู้จักในนามของ “เมืองที่ยืน 1 ด้านการขนส่งทางน้ำ” ของภาคเหนือของจีนรวมไปถึงการรู้จักผ่านผลงานการส่งออกรถไฟความเร็วสูงของเมืองชิงต่าว เนื่องจากที่ผ่านมาเมืองชิงต่าวได้ส่งออกรถไฟความเร็วสูงไปทั่วโลก ถ้าหากท่านผู้อ่านมีการติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับการส่งออกเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้านรถไฟความเร็วสูงไปยังประเทศต่าง ๆ จะเห็นได้ว่ารถไฟความเร็วสูงเหล่านั้น มีอุปกรณ์ที่ผลิตในเมืองชิงต่าวอยู่ไม่น้อย

เมื่อไม่นานมานี้ รถไฟความเร็วสูง EMU 11 ชุดและรถไฟตรวจสอบที่ใช้มาตรฐานของจีนในการพัฒนาขึ้นสำหรับเส้นทางจาการ์ตา-บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ได้ออกจากสายการผลิต ณ เมืองชิงต่าว เพื่อทดสอบการใช้งานและพร้อมส่งให้กับประเทศอินโดนีเซียเร็ว ๆ นี้ โดยการเปิดตัวรถไฟความเร็วสูง EMU ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของโครงการรถไฟ China Railway International และเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงให้มีคุณภาพสูงตามเป้าประสงค์

นอกจากนี้ รถไฟขบวนนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของโครงการ “Belt and Road” ของจีน และเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมระหว่างจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียและบันดุง เมืองหลวงของชวาตะวันตก ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของอินโดนีเซีย โดยรถไฟสายนี้มีระยะทางกว่า 142 กิโลเมตร ความเร็วในการทำงานสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้งานจริงจะสามารถช่วยประหยัดระยะเวลาในการเดินทางที่จากเดิมใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 40 นาที

ขบวนรถไฟสายนี้ ประกอบไปด้วย ตู้โดยสาร 8 ตู้ จำแนกเป็น ตู้โดยสารชั้น 1 จำนวน 1 ตู้ ตู้โดยสารชั้น 2 จำนวน 6 ตู้ และตู้เสบียง 1 ตู้ สามารถบรรจุผู้โดยสารได้มากถึงขบวนละ 601 คน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมรถไฟ 2 ขบวนเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งด้วย นอกจากนี้ CRRC Qingdao Sifang Co, Ltd บริษัทในเครือของ China State Railway Group ผู้ออกแบบและพัฒนารถไฟขบวนนี้ เปิดเผยว่า รถไฟขบวนนี้ได้อาศัยแพลตฟอร์มเทคโนโลยีฟู่ซิง2 (Fuxing) มาใช้ในการผลิต โดยมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวอินโดนีเซีย รถไฟขบวนนี้มีการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีการปรับให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศหลายประการ อาทิ ระบบเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและระบบเตือนภัยล่วงหน้า ผ่านจุดตรวจจับมากกว่า 2,500 จุดที่ติดตั้งในขบวนรถไฟ การตรวจจับที่รวดเร็ว การเตือนล่วงหน้า และการวินิจฉัยสำหรับระบบที่สำคัญทั้งหมด รวมไปถึงโหมดการเร่งความเร็วสูง สำหรับทางสูงชัน เป็นต้น

จนถึงสิ้นปี 2564 จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเกิน 40,000 กิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของระยะทางทั้งหมดของรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก รถไฟความเร็วสูงของจีนได้ยกระดับจากมาตรฐานระดับชาติไปสู่ระดับมาตรฐานสากลชั้นนำ โดยปัจจุบัน สหภาพรถไฟระหว่างประเทศ (International Union of Railways, UIC) ได้ออกมาตรฐานรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมี 3 มาตรฐานที่เป็นของจีน อันเป็นผลให้เทคโนโลยีและข้อกำหนดของจีนกลายเป็นมาตรฐานสากล เป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกระบบและห่วงโซ่อุตสาหกรรมรถไฟแบบครบวงจรของจีน

 

  • EMU (Electric Mutiple Unit) หมายถึง รถรางไฟฟ้าที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่ต้องใช้หัวรถจักรสำหรับลากขบวนรถ
  • ฟู่ซิง (Fuxing)  เป็นรุ่นรถไฟความเร็วสูงของการรถไฟจีนที่มีมาตรฐานความเร็ว 350-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว

แหล่งที่มา:

http://qingdao.chinadaily.com.cn/2022-08/08/c_795269.htm 
http://ydyl.china.com.cn/2022-08/08/content_78361781.htm