กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว เข้าร่วมเทศกาลปีนเขานานาชาติไท่ซาน ครั้งที่ 37 และกิจกรรมแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจีน-ต่างประเทศ ณ เมืองไท่อัน มณฑลซานตง วันที่ 3 - 6 กันยายน 2566‎

กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว เข้าร่วมเทศกาลปีนเขานานาชาติไท่ซาน ครั้งที่ 37 และกิจกรรมแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจีน-ต่างประเทศ ณ เมืองไท่อัน มณฑลซานตง วันที่ 3 - 6 กันยายน 2566‎

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ย. 2566

| 423 view

           นางสาวนภัสพร ภัทรีชวาล กงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว เป็นผู้แทนเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมเทศกาลปีนเขานานาชาติไท่ซาน ครั้งที่ 37 และกิจกรรมแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจีน-ต่างประเทศ จัดขึ้นที่เมืองไท่อัน โดยศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศและรัฐบาลเมืองไท่อัน ระหว่างวันที่ 3 - 6 กันยายน 2566

           วันที่ 5 กันยายน 2566 กงสุลใหญ่ฯ และคณะ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดเทศกาลปีนเขานานาชาติไท่ซาน ครั้งที่ 37 และกิจกรรมแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจีน-ต่างประเทศ ภายใต้หัวข้อ "ปืนเขาไท่ซาน ทัศนาใต้หล้า" โดยมีนายเติ้ง หยุนเฟิง รองผู้ว่าการมณฑลซานตง เป็นประธานในพิธี ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การแข่งขันปืนเขา การแสดงแสงสีเสียง นิทรรศการภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจีน-ต่างประเทศ การประชุมสรุปฤดูกาลท่องเที่ยวในแม่น้ำเหลือง เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมาของการจัดเทศกาลปีนเขานานาชาติไท่ซาน เมืองไท่อันได้ใช้เขาไท่ซานเป็นศูนย์กลางในการแสวงหาความร่วมมือ ขยายการเปิดกว้าง กระชับการแลกเปลี่ยนที่ลึกซึ้งและเรียนรู้ร่วมกันกับนานาประเทศทั่วโลก ร่วมถึงส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการกีฬาของไท่อันอย่างมีประสิทธิภาพ

            วันที่ 6 กันยายน 2566 ภายในงานประชุมสรุปฤดูกาลท่องเที่ยวในแม่น้ำเหลือง ในฐานะผู้แทนเอกอัครราชทูตฯ และในฐานะกงสุลใหญ่ ณ เมืองชิงต่าว น.ส.นภัสพรฯ กล่าวสุนทรพจน์ มีใจความสำคัญว่า เมืองไท่อัน มณฑลซานตงมีศักยภาพ ที่เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งศึกษาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันเส้นทางของแม่น้ำเหลืองที่เราได้พบเห็นก็เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยความงดงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงความเจริญของยุคสมัยในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจน่าศึกษาในทุกด้าน และน่าสนับสนุนให้ทุกคนในทุกมุมของโลก รู้จักและเรียนรู้มณฑลซานตงในลักษณะนี้ ในส่วนของประเทศไทย ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล แม่น้ำ ที่ราบลุ่ม รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำเช่นเดียวกับที่ซานตงมี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่เป็น อู่อารยธรรม แหล่งโบราณคดี แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมทั้งพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อการลงทุน ตนเห็นว่า ไทยและจีน รวมทั้งประเทศต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันและร่วมลงทุนในหลายธุรกิจ ทั้งนี้ยังกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 45 ที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนนี้ ไทยรอรับฟังผลการขอขึ้นทะเบียน สถานที่ที่เป็นมรดกโลกล่าสุดของไทย คือ อุทยานศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เชื่อมั่นว่า จะผ่านการพิจารณาได้เป็นอย่างดี

           โดยการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ผู้แทนทางการทูตต่างประเทศในจีน ผู้แทนศูนย์วัฒนธรรมจีนในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องและสำนักงานการท่องเที่ยวในต่างประเทศ หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง บริษัทท่องเที่ยว ผู้แทนเมืองพันธมิตรการท่องเที่ยวภายใต้เส้นทางสายไหม รวมถึงคณะจากจังหวัดเชียงราย นำโดย นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย

           เขาไท่ซาน เป็นภูเขาที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน เป็นมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันล้ำค่าของมวลมนุษยชาติ ในปี พ.ศ. 2530 เขาไท่ซานได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติแห่งแรกของจีน ในปีเดียวกัน เทสกาลปีนเขานานาชาติไท่ซานได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและกลายเป็นหนี่งในกิจกรรมกีฬาปีนเขานานาชาติที่เก่าแก่ที่สุด จัดขึ้นแล้ว 36 ครั้ง และขยายไปสู่ด้านอื่น ๆ ที่ครอบคลุม อาทิ เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวัฒนธรรม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ